รับมือในวันที่ พี่น้องทะเลาะกัน
พ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า “เราบังคับให้พี่น้องรักกันไม่ได้ แต่เราสอนให้พวกเขาให้ รักกันได้"
▶︎ 1. ลูกสังเกตว่าคุณดุใครบ่อยกว่า คนที่มักโดนดุบ่อย ๆ ก็คือคนเป็นพี่ เพราะพ่อแม่คาดหวังว่าพี่น่าจะฟังรู้เรื่องมากกว่าน้อง เช่น เมื่อมีการแย่งของเล่นกัน พ่อแม่คาดหวังว่าพี่จะให้น้อง เพราะน้องเล่นแค่แป๊บเดียว พอพี่ไม่ให้ คุณก็ดุเขา
หากพี่ผลักน้องออกจากบริเวณที่ตนเล่น เพราะไม่ต้องการให้ของเล่นที่สร้างไว้ล้มครืนลง คุณก็ดุพี่ เพราะคาดหวังว่าพี่ต้องไม่ทำน้อง แม้พี่จะไม่ได้ตั้งใจทำน้องเจ็บ แต่คุณก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้เลย พี่จึงมองว่าพ่อแม่ดุเขาทุก ๆ เรื่อง โดยไม่คิดถึงหัวใจเขา
▶︎ 2. ลูกสังเกตว่าพอมีน้อง เขาโดนดุบ่อยขึ้นมาก ตอนยังไม่มีน้อง ลำพังเรื่องของตัวเองก็โดนดุอยู่แล้ว เช่น เล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ ก็โดนดุ เรียกไปอาบน้ำก็โดนดุอีก กินข้าวนานก็โดนอีกฯ พอมีน้อง เรื่องที่จะโดนดุก็เพิ่มตามมาด้วย ทั้งเรื่องของเล่น ของกิน เวลาของพ่อแม่ที่มีให้ แถมต้องไม่ทำเสียงดังตอนน้องนอนอีกฯ ทำให้ พี่นึกไม่ออกเลยว่า มีน้องแล้วดียังไง
▶︎ 3. ลูกสังเกตว่า "คุณอยู่กับใครบ่อยกว่า" แม้คุณจะอธิบายว่าคุณรักคนพี่มากแค่ไหน แต่หากร่างกายของคุณกับอยู่กับน้องมากกว่า คำอธิบายนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเลยสักนิด
▶︎ 4. ลูกสังเกตว่า "คุณพูดจาอ่อนหวานและสีหน้ายิ้มแย้มกับใครบ่อยกว่า" พ่อแม่หลายคนไม่รู้ตัวว่า สีหน้าของตนเองยิ้มแย้มแจ่มใสเวลาอยู่กับเด็กเล็ก ๆ แต่เมื่ออยู่กับเด็กโตผู้ซึ่งเป็นพี่ สีหน้า และน้ำเสียงกลับเปลี่ยนเป็นแข็งขึ้น เรื่องแบบนี้ต้องสังเกตเอาค่ะ แต่ที่แน่ ๆ เด็ก ๆ จับน้ำเสียงและแววตาของผู้ใหญ่เก่งมากนะคะ
● 1. ลูกสังเกตว่าคุณดุใครบ่อยกว่า บางคนบอกหมอว่า แม่ก็เลยดุพี่และดุน้องเท่า ๆ กันตลอดเวลา หมอฟังแล้วก็อึ้ง หมอไม่คิดว่าการเลี้ยงลูกจะแก้ไขง่าย ๆ เหมือนแก้โจทย์เลขชั้นเดียว สิ่งที่คุณควรทำมากกว่า คือการหาสาเหตุของปัญหานั้น แล้วกระตุ้นให้พี่เป็นคนคุมสถานการณ์ เพื่อให้พี่รู้สึกว่าเขาคุมเกมอยู่ เขาเอาอยู่ และเขามีความสามารถมากพอที่จะทำเรื่องนี้
เมื่อมีการแย่งของเล่นกัน คุณควรเข้าไปถามลูกว่า “ลูกเป็นพี่ที่เก่ง ทั้งพูดเก่งและรู้เรื่องกว่าน้องเล็ก ๆ พี่คิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไงดีคะ” เพื่อให้คนเป็นพี่หัวใจพองโต รู้สึกดีใจที่ได้เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาอีกขั้น โดยมีน้องแสดงความนับถืออยู่ และหากน้องโตพอจะคิดได้ ก็ชวนน้องร่วมคิด โดยบอกว่า น้องก็คิดได้เก่งเหมือนกันน ลองค่อย ๆ คิดนะ หากลูกนึกไม่ออก เราในฐานะพ่อแม่ก็ต้องกระตุ้นให้ลูกคิดตาม เช่น “แม่คิดว่าเอาของมาแลกเปลี่ยนดีไหม (แล้วต่อด้วยการถามความคิดเขา) ลูกคิดยังไง”
ดังนั้นเราไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการดุเท่า ๆ กัน แต่ควรแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่างหากค่ะ เพราะนอกจากลูกจะได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ จากคุณแล้ว พี่ก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นพี่ด้วย ทำให้เขาชอบมีน้อง เพราะการมีน้องทำให้เขาได้โชว์ความเป็นพี่ที่เจ๋ง ๆ ออกมาได้ด้วย
● 2. ลูกสังเกตว่าพอมีน้อง เขาโดนดุบ่อยขึ้นมาก คุณไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้วินัยเชิงบวกทั้งพี่และน้อง เพราะวินัยเชิงบวกจะไม่มีภาพของการลำเลียง
และหากใครกำลังคิดจะมีลูกคนที่ 2 คุณควรทำวินัยเชิงบวกกับคนที่ 1 ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อให้คุณไม่เหนื่อยเรื่องวินัยมากไปเมื่อคนที่สองออกมา
● 3. ลูกสังเกตว่าคุณอยู่กับใครบ่อยกว่า
ตำราหลายเล่มบอกตรงกัน คุณต้องมีช่วงเวลาเดี่ยวกับลูกคนหนึ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ลูกคนนั้นรู้สึกดี คุณยังมีสมาธิง่ายขึ้นด้วย ทำให้คุณยิ้มแย้มแจ่มใสและชื่นชมลูกง่ายขึ้น
● 4. ลูกสังเกตว่าคุณพูดจาอ่อนหวานและสีหน้ายิ้มแย้มกับใครบ่อยกว่า ข้อนี้แก้ไขง่ายมาก คุณก็ควรมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสกับลูกทุก ๆ คนเหมือนกัน กลับไปสังเกตตัวเองดูนะคะ
นี่คือเหตุผลที่การใช้คำอธิบายอย่างเดียว ฟังไม่ขึ้น เพราะลูกสังเกตคุณแทบจะทุกวินาทีเลยค่ะ จงพิสูจน์ ให้ลูกเห็นด้วย กลับถึงบ้านแล้ว ลงมือทำวันนี้เลย เพื่อไม่ให้เขาเติบโตมามีปมในใจว่า “พ่อแม่รักเขาน้อยกว่า อะไร ๆ ก็น้อง” เลยนะคะ