283
จะดีจริงมั้ย ? ถ้าอยากให้ลูก TIME-OUT

จะดีจริงมั้ย ? ถ้าอยากให้ลูก TIME-OUT

โพสต์เมื่อวันที่ : December 21, 2023

 

หนึ่งในการปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกที่มีคนกล่าวถึงเพื่อทดแทนการ ‘ลงโทษ’ ก็คือ การทำ Time-Out แปลเป็นไทยให้เห็นภาพ ก็คือ “การเข้ามุม” ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการปรับพฤติกรรมที่นิยมในช่วงหนึ่ง แต่ส่วนตัวของผู้เขียนนั้นถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยถูกจริตนัก 

 

สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่า ‘Time-out’ มาก่อน จะขออธิบายง่าย ๆ คือ การทำ Time-out ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมลูก พูดง่าย ๆ คือ ‘วิธีทำโทษลูก’ โดยไม่ต้องตีนั่นแหละ โดยทำได้ตั้งแต่เด็ก 2 ขวบขึ้นไป ด้วยหลักการ ‘หยุด - แยก - สงบ’

 

"หยุด - แยก - สงบ" กล่าวคือ เมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่ดี พ่อแม่ก็หยุดพฤติกรรมนั้น แยกลูกเข้ามุมสงบ (อาจจะมุมห้องหรือห้องที่เงียบ) ให้อยู่คนเดียวเงียบ ๆ (ปกติจะแนะนำให้นั่งเก้าอี้) พร้อมกับพ่อแม่ เป็นเวลาประมาณ 1 นาทีต่ออายุ (2 ขวบก็ 2 นาที 3 ขวบก็ 3 นาที) หากลูกเดินออกก่อนเวลาก็จับเริ่มใหม่ โดยลูกควรต้องรู้ว่าทำอะไรแล้วไม่ดี ถือเป็นผลของการกระทำ จะได้ไม่ทำอีก 

 

วิธีการน่าจะดี เพราะลูกจะได้เรียนรู้ว่าทำอะไรแล้วจะถูก Time-out ซึ่งตอนเรียนแพทย์ ผู้เขียนก็ได้เรียนรู้วิธีนี้เพื่อเอาไปแนะนำพ่อแม่เหมือนกัน แต่เมื่อเป็นกุมารแพทย์มาระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อได้มีโอกาสเป็น ‘พ่อ’ จึงสรุปได้เลยว่า วิธีการนี้ไม่น่าจะดีสักเท่าไรทั้งต่อพ่อแม่ และต่อเด็ก 

 

 

เราพบว่าหลายครั้งลูกไม่ได้เรียนรู้จากการถูกปรับพฤติกรรมด้วยวิธี Time-Out เด็กบางคนทำเรื่องไม่ดีเสร็จเดินเข้ามุมไป Time-out ตัวเองเสร็จสรรพ ประมาณว่า “โอเค ชั้นเข้ามุมแล้วแม่โอเคนะ” ทำโทษตัวเองเสร็จ ถือว่า เรื่องจบ !? 

 

ในขณะเดียวกัน หากนำหลักการไปใช้จริงไม่ถูกต้องอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ลูกรู้สึก ‘โดดเดี่ยวและถูกทิ้ง’ ในขณะเดียวกันก็อาจรู้สึกว่า ‘เป็นที่ไม่รัก’ ในตอนที่เขาคุมพฤติกรรมหรืออารมณ์ของตนเองไม่ได้ (ซึ่งพบได้ปกติในเด็กที่สมองส่วนเหตุผลยังพัฒนาได้ไม่ดี) โดยเฉพาะเด็กที่กรีดร้องอาละวาดอยู่ พ่อแม่ที่จับแยก-สงบ โดยไม่ได้สื่อสาร-ติดต่อ-สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของลูกในขณะนั้นเลย

 

ถ้าเป็นเด็กที่ร้องไห้ โวยวาย เสียใจ พ่อแม่จะไม่สนใจ จงไปอยู่คนเดียวเงียบ ๆ เสีย แบบนี้คงมิใช่เรื่องดีต่อเด็กเลย … เพราะหนูทำตัวแย่จนพ่อแม่ไม่อยากกอดหนู ไม่อยากอยู่ข้าง ๆ หนูเลยใช่ไหม ? หนูต้องทำตัวดี ๆ มีแต่ด้านดีเท่านั้นใช่ไหม แม่ถึงเห็นหนู ? 

 

 

ในปัจจุบัน เราพบว่า "การปรับพฤติกรรมเชิงบวก" ที่ยึดโยงด้วย ‘ความสัมพันธ์อันดี’ ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ถือเป็นวิธีการปรับพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว และไม่ทิ้งบาดแผลทางจิตใจให้กับเด็ก โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือและความรักอย่างไร้เงื่อนไขให้ลูก โดยเฉพาะ ตอนที่ลูกคุมตัวเองไม่ได้ ตอนที่ลูกกำลังถูกอารมณ์ความรู้สึกครอบงำอย่างถอนตัวไม่ขึ้น 

 

อยู่ใกล้ - ปลอบใจ - เข้าใจ 
สื่อสาร - ติดต่อ - สะท้อนความรู้สึก และสอนวิธีการจัดการความรู้สึกอย่างเหมาะสมได้ โกรธได้ เสียใจได้ ร้องไห้ได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งของ 
แม่ใจดี - แม่ไม่ตี - แต่แม่ไม่ตามใจ (เลี้ยงอย่างมีขอบเขต ระเบียบวินัย ตกลงกันแล้วว่าทำไม่ได้ก็คือไม่ได้ ร้องไห้ได้ แม่เข้าใจ แต่แม่ก็ชัดเจนว่าตรงไหนได้ ตรงไหนไม่ได้)

 

 

สิ่งสำคัญที่สุด มิใช่จ้องแต่จะปรับพฤติกรรมลูก "วิธีการที่ดีที่สุดในการเลี้ยงลูก" คือ การมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน มีเวลาคุณภาพที่เพียงพอระหว่างกัน ทำงานบ้านร่วมกัน อ่านนิทานร่วมกันสม่ำเสมอ ชมลูก มองเห็นในสิ่งที่ดี ให้เด็กได้เคลื่อนไหวเต็มที่ เล่นอย่างเต็มที่ นอนให้พอ สิ่งพื้นฐานที่ทรงอานุภาพนี้จะส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี เป็นเด็กที่น่ารักขึ้นจริง ๆ เพราะจงเชื่อให้สนิทใจว่า เด็กทุกคนต้องการทำดี เป็นที่รักของพ่อแม่

 

แต่ด้วยพัฒนาการตามวัย เขาจะทดลอง เขาจะพูดว่า “ไม่” เขาจะลองทดสอบพ่อแม่ว่า พ่อแม่ยอมเขาแค่ไหน อย่างไร ดังนั้นมันจะมีเรื่องราวให้เด็กไม่ได้ดั่งใจ โกรธ เสียใจอยู่เสมอ และนั่นนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่น่ารักของเขานั่นเอง ซึ่งในตอนนั้นเอง เขาเองต้องการพ่อแม่มากที่สุดที่จะโอบกอดความรู้สึก สอนเขาให้จัดการกับอารมณ์และควบคุมตัวเองได้ทั้งครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไป 

 

 

ลองนำไปปรับใช้ดูครับ หลายบ้านที่ใช้วิธีการ Time-Out แล้วได้ผลดีก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ได้ เพราะการเลี้ยงลูกนั้นไม่มีผิดไม่มีถูก เครื่องมือเดียวกันอาจใช้ได้กับบ้านหนึ่งและอาจใช้ไม่ได้กับอีกบ้านหนึ่งก็เป็นได้ครับ

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง