323
3 แนวทาง รับมือลูกจอมเฉื่อยชา

3 แนวทาง รับมือลูกจอมเฉื่อยชา

โพสต์เมื่อวันที่ : December 11, 2024

 

“เด็กที่มีความช้าเฉื่อย” หมายถึง เด็ก ๆ ที่ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ในเวลาที่เหมาะสม ทำช้า ทำไม่เสร็จ หรืออาจจะไม่ได้ทำเลย

 

การที่เด็ก ๆไม่สามารถทำงานได้เสร็จทันเวลาและทำกิจกรรมเชื่องช้าส่งผลให้พวกเขาไม่มีความมั่นใจในตัวเองและในเด็กบางคนอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนให้เข้ากลุ่ม ทั้งนี้ต้องไม่เกิดจากลักษณะทางกายภาพที่บกพร่องตั้งแต่เกิด เช่น เด็กมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง เด็กมีปัญหาทางด้านสติปัญญา

 

“ความช้าเฉื่อย” ของเด็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ "ตัวตนของเด็กเอง" กับ "การเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา" ซึ่งแนวทางในการรับมือสามารถทำได้ดังนี้

 

❶. ตัวตนของเด็ก

“พื้นฐานทางอารมณ์ที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด” จิตแพทย์หลายท่าน เช่น Thomas และ Chess (1987) เชื่อว่า พื้นฐานอารมณ์ของเด็กมี 3 แบบ ได้แก่

 

  • เด็กเลี้ยงง่าย (Easy child)
  • เด็กเลี้ยงยาก (Difficult child)
  • เด็กปรับตัวช้า (The slow-to-warm-up child)

 

เด็กกลุ่มที่ 3 มักตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า ปรับตัวช้า อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จะปรับตัวได้ ถ้าให้เวลาเขาเพียงพอ และช่วยกระตุ้นเขาผ่านการฝึกฝนที่มากกว่าปกติและทำอย่างสม่ำเสมอ

 

แม้พื้นฐานอารมณ์ของเด็กจะติดตัวเขามาตั้งแต่เกิด แต่การเลี้ยงดูที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะเอื้อให้เด็กปรับตัวและเติบโตได้ดีขึ้น ดังนั้น เมื่อลูกปรับตัวช้า พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเขามักอดทนรอคอยให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเองไม่ได้ เราเผลอเข้าไปช่วยเขาเร็วเกินไป

 

เด็กกลุ่มนี้จึงมักไม่มีโอกาสทำอะไรด้วยตนเอง และคนรอบตัวเด็กมักตัดสินเขาโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของตนเอง บางอย่างเด็กทำได้ แต่เรารอเขาไม่ได้เอง จึงทำให้เราตัดสินว่าเขาทำไม่ได้

 

การรับมือ : พ่อแม่ต้องให้ “โอกาส” เขาทำสิ่งต่าง ๆ ตามวัยของเขาด้วยตัวเอง “อย่าตัดสิน” เขาโดยการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น หรือจากความคาดหวังของเรา ลูกต้องการความเชื่อมั่นจากพ่อแม่ และเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง พ่อแม่มีหน้าที่เผื่อเวลาให้เขา อย่าเร่งเขา และแม้ว่าครั้งแรก ๆ ของการทำสิ่งต่าง ๆ อาจจะเชื่องช้าไปบ้าง ขอให้พ่อแม่ให้กำลังใจและชื่นชมเด็ก ๆ

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : ช้า ๆ ชัด ๆ กระบวนท่าฝึกหัดให้ลูกพูดเก่ง

 

 

❷. การเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา

 

🟠 การเลี้ยงดูที่ปกป้องเด็กจนเกินพอดี (Overprotective parenting)

เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในรูปแบบที่พ่อแม่และคนในบ้านให้การปกป้องจนเกินพอดี มักจะขาดโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตัวเองตามวัย ทำสิ่งใหม่ ๆ หรือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะพ่อแม่จะเข้าไปทำให้ หรือเข้าไปช่วยเหลือทันที

 

เมื่อเด็กไม่ได้ฝึกฝนทำอะไรเอง เขาจะไม่สามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือตัวเองเมื่อไปโรงเรียนได้ ส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจ ความไม่มั่นใจมักปรากฏเป็นพฤติกรรมที่เชื่องช้า โลเล ตัดสินใจไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ยืนนิ่ง และรอให้คนเข้ามาช่วยเหลือ แทนที่จะพยายามด้วยตัวเองก่อน หรือเข้าหาผู้อื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ

 

การรับมือ : พ่อแม่และผู้ใหญ่ต้องลดการปกป้องเด็กแบบเกินความจำเป็น ให้เด็กได้ทำอะไรเองในสิ่งที่ควรทำได้ โดยเฉพาะการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน เช่น กินข้าวเอง อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง เก็บของเล่นเอง และเมื่อเด็กเผชิญปัญหา อย่ารีบเข้าไปช่วยเหลือ รอให้เด็กลองแก้ปัญหาดูก่อน ถ้าเด็กทำไม่ได้ ให้แนะนำหรือสอนเขาแก้ปัญหานั้น ถ้าปัญหานั้นใหญ่เกินวัยเด็ก ๆ เราทำให้เขาดู และให้เขาช่วยเราทำในส่วนที่เขาทำได้ ไม่ใช่ทำให้ทันทีโดยที่เด็กไม่จำเป็นต้องทำอะไรเองเลย เมื่อเด็กทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น พวกเขาจะมีความมั่นใจในตัวเอง ส่งผลให้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมั่นใจและรวดเร็วขึ้น

 

 

🟠 เด็กที่ไม่ได้เล่นข้างนอก ไม่ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย

"ธรรมชาติของเด็ก" วัยของเขาคือการพัฒนาร่างกายเพื่อนำไปใช้เรียนรู้ในวัยถัดไป ดังนั้น กล้ามเนื้อของแขน ขา และแกนกลางลำตัวมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เด็ก ๆ มีร่างกายที่แข็งแรง มีพลัง เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว และนั่งเรียนโดยคงสมาธิจดจ่อได้นาน เด็กที่ได้วิ่งเล่น ปีนป่าย ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุก ๆ วัน อย่างน้อยวันละ 2 - 3 ชั่วโมง มีแนวโน้มกระตือรือร้นและเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่ขาดโอกาสทำกิจกรรมเคลื่อนไหว

 

เด็กบางคนขาดโอกาสในการเล่นและเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะต้องนั่งเรียนเป็นระยะเวลายาวนาน เรียนพิเศษ หรือบางคนอาจดูหน้าจอแทนการออกไปเล่น การนั่งนิ่งเป็นเวลานานหรือดูหน้าจอโดยไม่พัก ส่งผลให้เด็กบางคนขาดความสนใจในสภาพแวดล้อม และเอื่อยเฉื่อย

 

เด็กบางคนมีแนวโน้มน้ำหนักเกินและไม่แข็งแรง เนื่องจากร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว และกล้ามเนื้อไม่ได้พัฒนา ในระยะยาวเด็ก ๆ จะยิ่งเหนื่อยง่าย เมื่อเหนื่อยง่ายก็ยิ่งไม่ชอบการเคลื่อนไหว ร่างกายก็ยิ่งไม่แข็งแรงตามวัย กลายเป็นวงจรแห่งความเฉื่อยชา

 

แม้เด็กบางคนจะเรียนได้ดี เพราะเรียนพิเศษมากมายหรือมีความสุขดีกับการดูหน้าจอ แต่สุขภาพกายที่หายไปจากการไม่ได้เคลื่อนไหว ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น เด็กที่กล้ามเนื้อแกนกลางไม่แข็งแรงก็จะมีผลต่อการนั่งเรียนหรือการใช้งานหลัง นอกจากนี้ สุขภาพจิตที่ไม่ดีอาจเกิดขึ้นเมื่อตัวเองไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดั่งใจ

 

การรับมือ : พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรจัดตารางเวลาให้เด็ก ๆ ได้เล่น เคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยตัวเราเองควรเป็นตัวอย่างและออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ

 

 

❸. สาเหตุที่เกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์และการเลี้ยงดู

 

🟠 เด็กที่มีปัญหาสมาธิ

เด็กสมาธิสั้นบางคนเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เด็กที่ใช้หน้าจอเป็นระยะเวลานาน ผนวกกับการเลี้ยงดูที่ขาดวินัยที่ดี ส่งผลให้เด็กมีปัญหาสมาธิสั้นได้เช่นกัน

 

เด็กบางคนมีปัญหาสมาธิสั้นในรูปแบบเหม่อลอย ทำอะไรเชื่องช้า ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามเวลา ซึ่งมักพบในเด็กวัยประถม เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเรียนที่แท้จริง เด็กจำเป็นต้องควบคุมตัวเองให้จดจ่อ ทำงาน และมีสมาธิในห้องเรียนได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่เด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ทั้งนี้หากผู้ใหญ่ไม่ได้สังเกตดี ๆ

 

เด็กกลุ่มนี้มักถูกมองข้ามว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะเด็กสมาธิสั้นที่เหม่อลอยไม่ได้รบกวนเพื่อน ๆ เหมือนเด็กกลุ่มสมาธิสั้นที่อยู่ไม่สุข ดังนั้นเราควรสังเกตว่าเด็ก ๆ มักเหม่อลอยระหว่างทำกิจวัตรประจำวันหรือไม่ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน ระหว่างทำกิจกรรมเหล่านี้มีความเชื่องช้า เหม่อลอย หรือทำเสร็จได้ด้วยตัวเอง หรือจำเป็นต้องมีคนมากระตุ้นเตือนให้ทำอยู่เรื่อย ๆ

 

การรับมือ: แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ด้านพัฒนาการหรือจิตแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาหรือคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เด็กกลุ่มสมาธิสั้นจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมผ่านการมีโครงสร้างทางวินัยที่ชัดเจนและเหมาะสม เช่น การมีตารางเวลาที่เด็ก ๆ สามารถทำตามได้ในทุกวัน และควรมีคนช่วยกำกับเวลาให้พวกเขา เพื่อที่เด็ก ๆ จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น จนสามารถทำได้ทันเวลาในที่สุด ดังนั้น การฝึกฝนสม่ำเสมอคือหัวใจสำคัญ

 

 

สุดท้าย เด็กทุกคนแตกต่างกันไป บางคนทำทุกอย่างอย่างรวดเร็ว บางคนทำทุกอย่างเชื่องช้า แต่สิ่งที่เด็กทุกคนเหมือนกันคือ เด็กทุกคนมีคุณค่าและสามารถเติบโตพัฒนาได้ แม้จะมากหรือน้อยไม่เท่ากัน แต่ทุกวันที่เขาเรียนรู้ เด็ก ๆ จะเติบโตขึ้น ขอแค่ผู้ใหญ่ให้โอกาส อย่าหมดหวัง และเชื่อมั่นในตัวเขาต่อไป

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

 

อ้างอิง : Chess, S. & Thomas A. (1987). Temperamental individuality from childhood to adolescence. Journal of Child Psychiatry, 16, 218-26

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง