185
เด็กที่มีความวิตกกังวลสูง

เด็กที่มีความวิตกกังวลสูง

โพสต์เมื่อวันที่ : December 18, 2024

 

บางสิ่งบางอย่างก็ติดตัวเด็ก ๆ มาตั้งแต่วันที่เขาเกิด ทั้งนี้ไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัวเขาจะเป็นอย่างไร หรือพ่อแม่จะมีวิธีการเลี้ยงดูเขาแบบไหน บางครั้งเด็กก็เกิดมาเป็นตัวของเขาเองเช่นนั้น

 

“พื้นฐานอารมณ์” คือวิธีที่เด็กตอบสนองต่อโลก เป็นลักษณะพฤติกรรมที่เด็กใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในสถานการณ์เดียวกัน เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์ต่างกันอาจตอบสนองแตกต่างกัน เช่น เมื่อต้องดูดอกไม้ไฟเป็นครั้งแรก เด็กคนหนึ่งอาจร้องกรี๊ดกร๊าดอย่างสนุกสนาน ในขณะที่เด็กอีกคนอาจกลัวจนร้องไห้และไปหลบอยู่หลังพ่อแม่

 

พื้นฐานอารมณ์ของเด็กแบ่งออกเป็น 3 แบบ (Thomas & Chess, 1987) ได้แก่

 

  1. เด็กเลี้ยงง่าย (The easy child) – อารมณ์ดี ยิ้มง่าย ปรับตัวง่าย กินง่าย นอนง่าย เข้ากับผู้อื่นได้ดี และชอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ท้าทาย
  2. เด็กเลี้ยงยาก (The difficult child) – ร้องไห้ง่าย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวนเร็ว ปรับตัวยาก กินยาก นอนยาก และมักปฏิเสธหรือต่อต้านสิ่งใหม่ ๆ
  3. เด็กปรับตัวช้า (The slow to warm up child) – มักตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ปรับตัวยาก แต่สามารถปรับตัวได้หากได้รับเวลาเพียงพอ และต้องได้รับการกระตุ้นหรือฝึกฝนมากกว่าปกติ

 

สำหรับเด็กที่ไม่สามารถจัดอยู่ในทั้ง 3 ประเภทนี้ได้ จะถือว่าเป็น เด็กที่มีลักษณะพื้นฐานอารมณ์แบบผสม (The mixed child) ซึ่งแต่ละคนจะมีลักษณะของพื้นฐานอารมณ์ทั้งสามแบบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน

 

โดยทั่วไป เด็กที่มีความวิตกกังวลสูงมักอยู่ในกลุ่ม เด็กเลี้ยงยาก ซึ่งปรับตัวยาก และ เด็กปรับตัวช้า เนื่องจากการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมส่งผลโดยตรงต่อระดับความกังวลที่เกิดขึ้น เด็กที่ปรับตัวง่ายมักมีความกังวลน้อยกว่าเด็กที่ปรับตัวยากหรือปรับตัวช้า

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กขี้กังวลที่เกิดจากพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความกังวล

 

 

รับมือกับเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง


 

1. พ่อแม่คือบ้านหลังแรกที่ปลอดภัยและอบอุ่น

พ่อแม่ควรเป็นบ้านที่ปลอดภัยและอบอุ่นสำหรับลูก เพราะไม่ใช่แค่เด็กที่มีความวิตกกังวลสูงเท่านั้นที่ต้องการพ่อแม่ที่รักและยอมรับในตัวเขา แต่เด็กทุกคนก็ต้องการเช่นเดียวกัน

บ้านที่ปลอดภัยไม่ใช่เพียงแค่สถานที่หรือปัจจัยสี่ แต่คือ “ความรักที่ปราศจากเงื่อนไข” ซึ่งแสดงออกผ่านการบอกรักตรงไปตรงมา สัมผัสที่อ่อนโยน การกอดที่อบอุ่น การรับฟังในทุก ๆ เรื่องราว และการมีเวลาคุณภาพร่วมกัน เช่น อ่านหนังสือ เล่น ทำงานบ้าน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างบ้านที่อบอุ่น และพ่อแม่ที่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญทางใจของเด็ก ๆ ทุกคน

 

 

2. ให้โอกาสและเวลาในการเรียนรู้และปรับตัว

เด็กบางคนเรียนรู้ได้ตั้งแต่ครั้งแรก ในขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลาถึงร้อยครั้ง เรียนรู้เร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขอให้พ่อแม่เชื่อเสมอว่า “เด็กทุกคนเรียนรู้และเติบโตได้” เมื่อเราเชื่อเช่นนั้น เราจะอดทนและรอคอยเด็ก ๆ ได้

 

การปรับตัวของเด็กที่มีความกังวลอาจเกิดขึ้นได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป แต่ทุกครั้งที่เผชิญกับสิ่งใหม่ สิ่งนั้นจะค่อย ๆ กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคย จากสิ่งที่ทำไม่ได้จะค่อย ๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อนั้นเด็ก ๆ จะสามารถปรับตัวและเรียนรู้ต่อไปได้

 

 

3. ให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองและเป็นเด็กตามวัย

เมื่อเด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามวัย พวกเขาจะรับรู้ถึงความสามารถของตนเองและประเมินตัวเองได้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น การตระหนักรู้สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความมั่นใจและลดความกังวล เมื่อไปในที่ใหม่ ๆ เขาจะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เอง แม้จะไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย

 

ดังนั้น เด็กควรได้รับโอกาสให้ช่วยเหลือตัวเองในสิ่งที่ทำได้ให้มากที่สุด พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรสอนและแนะนำ แต่ไม่ควรทำแทนในสิ่งที่เด็กสามารถทำได้เอง เพราะนั่นจะพรากโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเด็กไป และเมื่อเด็กต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ ความกังวลของเขาจะยิ่งเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ การให้ลูกได้เป็นเด็กตามวัย ผ่านการวิ่งเล่น หัวเราะ และเรียนรู้ตามวัย จะช่วยให้เขาเติบโตอย่างสมดุล เด็กจะไม่รู้สึกกดดันหรือวิตกกังวลเมื่อต้องก้าวไปสู่วัยต่อไป

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : “ลูกขี้อาย ลูกไม่มั่นใจ ลูกกังวล” สาเหตุและการช่วยเหลือ

 

 

4. สอนการสื่อสารและการแก้ปัญหา

เด็กที่สามารถสื่อสารความต้องการและรู้จักปฏิเสธได้ จะสามารถปกป้องตัวเองได้ดีกว่าเด็กที่ไม่สามารถสื่อสารสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งการสื่อสารเริ่มต้นจากที่บ้าน พ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านไม่ควรคาดเดาความต้องการของเด็กหรือทำทุกอย่างให้เด็กโดยที่เขายังไม่พูดบอกออกมา เพราะเมื่อเขาเติบโตและเข้าสู่โรงเรียนหรือสังคมภายนอก เด็ก ๆ อาจเคยชินกับการไม่สื่อสาร และเมื่อคนอื่นไม่สามารถเข้าใจความต้องการของเขาได้ เด็กอาจพลาดโอกาสในการเรียนรู้และไม่สามารถปกป้องสิทธิ์ของตนเอง

 

ดังนั้น พ่อแม่ควรสอนและรอให้เด็กพูดบอกและอธิบายสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเอง เพื่อฝึกฝนและนำไปใช้ต่อไป นอกจากนี้ การสื่อสารยังนำไปสู่การแก้ปัญหา เด็กที่สามารถสื่อสารได้ดีจะสามารถขอความช่วยเหลือหรือสอบถามเมื่อมีข้อสงสัย ซึ่งช่วยลดความวิตกกังวลลงได้

 

 

5. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

เด็กบางคนอาจมีความวิตกกังวลสูงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือการเรียนรู้ในโรงเรียน ตัวอย่างเช่น

 

  • Selective Mutism (SM) หรือ ภาวะที่เด็กไม่พูดในบางสถานการณ์หรือสถานที่ที่จำเพาะ เช่น ในห้องเรียนหรือสถานที่สาธารณะ แต่สามารถพูดได้ตามปกติในสถานการณ์อื่น ๆ เช่น ที่บ้าน เด็กที่มีภาวะนี้มักมีอาการกลัวทางสังคม (Social Phobia) (American Psychiatric Association, 2013) อาการมักเริ่มต้นในช่วงอายุ 3-6 ปี (แต่ได้รับการวินิจฉัยช่วงอายุ 5-8 ปี) (Wong, 2010) ภาวะนี้ไม่ใช่เพียงความเขินอาย แต่เด็กมีความกลัวอย่างมากที่จะพูดในสังคม

 

  • Generalized Anxiety Disorder (GAD) หรือ ภาวะวิตกกังวลทั่วไป เป็นภาวะทางจิตใจที่ส่งผลกระทบในระยะยาว เด็กที่มีภาวะนี้มักมีความเครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไปในหลาย ๆ เรื่อง บางครั้งอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของความกังวลได้ ทำให้ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ และอาจมีอาการทางกายโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดท้องหรือปวดหัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

สุดท้ายนี้ เด็กทุกคนต้องการพ่อแม่ที่ยอมรับและเชื่อมั่นในตัวเขา ขอให้พ่อแม่เชื่อมั่นและอดทนรอคอยอย่างมั่นคง แม้การเติบโตของเขาอาจดูช้ากว่าคนอื่น แต่เด็กทุกคนสามารถเบ่งบานได้เมื่อถึงเวลาของเขา

 

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

 

อ้างอิง : Chess, S. & Thomas A. (1987). Temperamental individuality from childhood to adolescence. Journal of Child Psychiatry, 16, 218-26

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง