2137
เมื่อลูกร้องไห้อยากได้ของเล่น

เมื่อลูกร้องไห้อยากได้ของเล่น

โพสต์เมื่อวันที่ : December 15, 2020

 

วันนั้นได้มีโอกาสไปเดินซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ระหว่างเลือกซื้อของก็มีแม่ลูกคู่หนึ่งเดินเข้ามา เด็กหญิงน่าจะอยู่ในวัยอนุบาล เธอพุ่งไปที่ชั้นของเล่นทันที

 

เด็กหญิง : “แม่..อยากได้อันนี้” เธอพูดพร้อมกับหยิบของเล่นชิ้นใหญ่มาให้แม่ของเธอดู
คุณแม่ : “ที่บ้านเรามีของเล่นเยอะแยะแล้ว และอันนี้แพงไปค่ะ”
เด็กหญิง : “อยากได้อันนี้นะแม่นะ หนูอยากได้อันนี้”
คุณแม่ : “เรากลับไปเล่นของเล่นที่บ้านก่อน และถ้ายังอยากได้ ค่อยเก็บเงินมาซื้ออันนี้นะคะ”
เด็กหญิง : “ไม่เอา จะเอาอันนี้ นะแม่นะ” สีหน้าของเธอเริ่มเปลี่ยนไป น้ำเสียงก็เริ่มดังขึ้นเป็นตะโกน
คุณแม่ : “ถ้าหนูยังไม่พร้อมแบบนี้ เรากลับบ้านกัน"

 

 

สุดท้ายเด็กหญิงก็งัดไม้สุดท้ายขึ้นมา นั่นคือลงไปนั่งร้องไห้และกรี๊ดเสียงดัง คุณแม่นิ่งสงบและปราศจากความลังเล สิ่งที่คุณแม่ทำ คือ จับมือฉุดลูกขึ้น และพาเดินออกจากร้านทันที เรามองตามไป คุณแม่พาเด็กหญิงไปด้านนอก บริเวณที่ปราศจากคน คุณแม่นั่งยอง ๆ

 

ในขณะที่เด็กหญิงยืนร้องไห้ ไม่มีการดุไม่มีการตวาดใด ๆ ให้เด็กรู้สึกอับอาย ไม่นานเด็กหญิงก็สงบลง คุณแม่คุยอะไรสักอย่างกับลูก แล้วจบลงด้วยการกอดเธอ ตอนนั้นรู้สึกชื่นชมคุณแม่ไม่น้อย ที่ถึงแม้ว่าลูกจะเล่นใหญ่เพียงใด สีหน้าคุณแม่นั้นสงบและมั่นคง เมื่อลูกทำไม่เหมาะสม

 

 

วิธีรับมือลูกเมื่อลูกร้องไห้อยากได้ของเล่น

 

ขั้นที่ 1 พ่อแม่ยืนยันชัดเจนว่า “ไม่ได้ค่ะ"

เพราะอะไร เช่น แพงเกินไป หรือมีที่บ้านแล้ว หรือลูกไม่ควรทำ

 

 

ขั้นที่ 2 เมื่อยืนหยัดแล้ว ลูกไม่ฟัง

ลงไปร้องไห้ อาละวาด หากเป็นที่ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือ ที่สาธารณะ เราควรพาลูกออกมาหามุมสงบ อาจจะเป็นนอกห้าง ในรถ หรือ ด้านนอน เพื่อให้เขาอยู่กับเรา และไม่ทำให้เขาเป็นจุดสนใจ เพราะถ้าหากเด็กร้องไห้อาละวาด คนจะเข้ามาสนใจหรือมุงได้ ทำให้เด็กอาจจะหยุดได้ยากขึ้น และมีแนวโน้มเล่นใหญ่กว่าเดิม

 

 

ขั้นที่ 3 เมื่ออยู่ในมุมสงบ

ถ้าเป็นเด็กเล็ก แล้วเขายินดีให้เรากอด เราสามารถกอดเขาได้ แต่ถ้าเด็กดิ้น เรานั่งลงข้าง ๆ ดูแลความปลอดภัย แล้วรอเขาสงบ (ไม่ควรจัดการเด็กที่อาละวาดขณะขับรถเด็ดขาด เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเองและลูกได้)

 

 

ขั้นที่ 4 เมื่อเด็กเริ่มสงบ

ให้เราบอกเขาว่า เรามานับ 1-5 หรือ 1-10 พร้อมแม่นะ แล้วให้เขานับพร้อมเราช้า ๆ จากนั้นจึงคุยกับเขาว่า “เมื่อกี้ หนูไม่ควรทำเช่นนั้น” หรือ “ของที่หนูอยากได้ วันนี้เราจะไม่ซื้อมัน เพราะ” เป็นต้น คุยกับเขา แล้วสอนเขาว่า เขาควรทำอย่างไร เช่น “หนูควรรอ” หรือ “เรามีของเล่นที่บ้านเยอะแล้ว ถ้าหนูยังอยากได้ เราควรเก็บเงินมาซื้อกันใหม่” เป็นต้น

 

สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่พูดสื่อสาร (ต่ำว่า 2 ปี) แค่เพียงเราอุ้มเขาออกมาจากสถานที่เกิดเหตุ กอดเขา รอเขาสงบ เมื่อสงบ บอกเขาดี ๆ ว่า “อะไรได้หรือไม่ได้” แล้วพาเขาไปทำอย่างอื่นได้ต่อ หากเขาพร้อมจะทำ ถ้าไม่พร้อมควรพาเด็กกลับบ้าน

 

 

ขั้นที่ 5 ในกรณีที่เด็กไม่พร้อมจะทำกิจกรรมต่อ

เราควรพาเขากลับบ้านก่อน

 

นอกจากนี้ เราควรทำข้อตกลงกับลูกก่อนออกจากบ้านว่า “ถ้าวันนี้หนูงอแง วิ่งไม่รอพ่อแม่ หรือ ทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เราจะกลับบ้านทันที แล้วจะงดมาห้างสักระยะหนึ่ง เพราะหนูไม่พร้อมจะควบคุมตัวเองเมื่อมาห้าง” (อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวจะตกลงกับลูก เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่า ถ้าหนูเลือกจะไม่ควบคุมตัวเอง แปลว่า หนูไม่พร้อมและไม่ควรมาที่นี่)

 

 

เด็กวัย 3 ปีขึ้นไป ก่อนจะออกนอกบ้าน เราควรบอกลูกเสมอว่า "เราจะไปไหนกันวันนี้ และเราจะไปทำอะไรบ้าง ถ้าลูกอยากได้อะไร พ่อแม่ให้งบหนูกี่บาท (10 บาท 20 บาท แล้วแต่เรา) ถ้าลูกอยากได้อะไร งบที่เรามีถ้าไม่พอซื้อ ให้เอากลับมาสะสมใส่กระปุกก่อน ไว้เงินพอค่อยซื้อสิ่งนั้น หรือ ถ้าลูกไม่ซื้ออะไรเลย เงินที่พ่อแม่ให้ในวันนั้นนั้นสามารถเอากลับมาเก็บใส่กระปุกเพื่อครั้งหน้าสามารถรวมกับเงินก้อนใหม่ที่พ่อแม่จะให้ แล้วไปซื้อของที่อยากได้ได้"

 

สำหรับเด็กปฐมวัยเขายังไม่ได้พัฒนาสมองส่วนเหตุและผลอย่างเต็มที่ (คิดก่อนทำ แยกแยะถูก/ผิด เหมาะสม/ไม่เหมาะสม) ทำให้ความสามารถการควบคุมตัวเองของเขายังมีน้อยเมื่อเทียบกับเด็กโต อย่างไรก็ตามประสบการณ์จริงที่เขาเผชิญจะทำให้เขาพัฒนาทักษะดังกล่าวขึ้นมา ผู้ใหญ่ควรสอนเขาเมื่อเขาพร้อมฟัง และอธิบายเขาให้ชัดเจนว่า ทำไมไม่ได้ หรือ ได้ด้วยเหตุผล เด็กจะพัฒนาส่วนนี้ขึ้นมาได้อย่างดี

 

 

ข้อควรระวัง : การสอนไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อระบายอารมณ์ของผู้ใหญ่หรือเพื่อทำให้เด็กรู้สึกอับอายต่อหน้าคนอื่น เราควรพุ่งเป้าไปที่การสอนเขาจริง ๆ

 

 

 

ในวันนี้ที่เด็กยังควบคุมตัวเองไม่ได้ ผู้ใหญ่ควรมั่นคงและสอนเขาด้วยความสงบ เราไม่จำเป็นต้องโมโหโวยวายไปตามเสียงร้องไห้ของเขา แต่เราควรจริงจังกับสิ่งที่เราพูดและทำให้เขาดูเสมอ (พูดคำไหนคำนั้น) ถ้าไม่ได้คือไม่ได้ เราจะไม่ปล่อยให้เขาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อไป เคล็ดลับในการสอนเด็กปฐมวัย จึงไม่ใช่การพูดสอนทันที แต่สอนโดยทำให้ดู และเข้าไปถึงตัวเด็กทันทีเมื่อเขาทำไม่เหมาะสม พาเขาออกมา รอเขาสงบ แล้วจึงสอนเขา

 

แม้บางบ้านจะมีกำลังทรัพย์ซื้อให้ลูกได้ทุกอย่าง แต่เราไม่ควรซื้อทุกอย่างให้เขา เพราะเด็กควรเรียนรู้ว่า แม้เขาจะอยากได้ แต่เขาจะไม่ได้ทุกอย่าง ทุกครั้งที่ร้องขอ เขาควรเรียนรู้ความพยายามและการอดทนรอคอย และที่สำคัญที่สุด เรียนรู้ที่จะผิดหวังบ้าง เพื่อสักวัน เมื่อเขาโตไป ในวันที่เราไม่ได้อยู่ข้าง ๆ เขาตลอดเวลา แม้เขาจะไม่สมหวังกับบางสิ่ง ไม่ได้มาซึ่งบางอย่าง เขาจะอยู่ได้

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง