564
เลี้ยงลูกยังไงให้ไม่เหนื่อย

เลี้ยงลูกยังไงให้ไม่เหนื่อย

โพสต์เมื่อวันที่ : April 26, 2024

 

เราต่างทราบดีว่าการเป็น ‘พ่อแม่’ เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังกายและใจอย่างมาก

 

ยิ่งตั้งความคาดหวังไว้สูงก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่พบกับความผิดหวังและรู้สึกผิดที่เลี้ยงลูกไม่ได้ดั่งที่หวังไว้ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วหากมองด้วยใจที่เป็นกลางจะพบว่า ลูกก็ยังเติบโตและมีพัฒนาการตามวัยได้ปกติ จึงไม่แปลกใจที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้าและเครียดจนบั่นทอนความสุขในการใช้เวลาเล่นและเลี้ยงลูก ณ ปัจจุบันไป 

 

 

วันนี้มีข้อแนะนำที่อาจช่วยลดความกดดันและความเครียดจากการเลี้ยงลูกได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้ชีวิตความเป็นพ่อแม่ที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบแต่พอดีและดีพอสำหรับลูกของเรา ดังนี้ 

 

✚ 1. การใช้เวลาคุณภาพกับลูก แน่นอนว่าการได้ใช้เวลาร่วมกันระหว่างคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่ดี แต่ด้วยวิถีการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันและความเครียดที่เกิดขึ้นการจากใช้เวลาทุ่มเทให้กับการเลี้ยงลูกตลอดเวลาสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่ทุ่มให้หมด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ มันอาจส่งผลลบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของแม่จนเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกได้ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่อีกหลายคนต้องทำงานนอกบ้าน บางคนเป็นพ่อแม่นอกเวลาราชการ บางคนเป็นพ่อแม่วันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ต้องเน้นย้ำว่า “คุณภาพ” และ “ความสม่ำเสมอ” สำคัญกว่า “ระยะเวลา” เสมอ 

 

การใช้ ‘เวลาคุณภาพ’ กับลูกโดยเฉพาะ ‘การเล่น’ และ ‘เรียนรู้’ ร่วมกันกับลูก รวมถึงการทำงานบ้านร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการนั่งอยู่ตัวเป็น ๆ ใกล้ ๆ ลูกแต่ไม่ได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน บางบ้านนั่งอยู่เหงา ๆ ข้าง ๆ กันเพราะต่างคนต่างเล่นมือถืออยู่ข้าง ๆ กันโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน 

 

 

✚ 2. การให้เวลากับตัวเองบ้าง เพราะพ่อแม่ที่มีร่างกายและจิตใจอยู่ในระดับ ‘ปกติ’ และ ‘ดีอยู่’ จะนำมาซึ่งการเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติสุขได้ พ่อแม่ควรได้รับสิทธิ์ในการดูแลตัวเอง กินอาหารที่ดีและครบถ้วน นอนหลับให้เพียงพอ (เท่าที่โอกาสจะอำนวย) ทำงานอดิเรกที่ชอบบ้าง (เช่น การดูหนัง ละคร ฟังเพลง เล่นดนตรี และอ่านนิยาย ฯลฯ) และอย่าลืมรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันฉันท์สามีภรรยาด้วยนะครับ 

 

 

✚ 3. Social detoxification หรือจำกัดการใช้สี่อสังคมออนไลน์บ้าง เพราะบ่อยครั้งที่สังคมออนไลน์ทำให้เกิดการแข่งขันในการเลี้ยงลูกไปโดยไม่รู้ตัว ของเล่นที่มี ข้าวของเครื่องใช้ของลูก พัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกที่แตกต่างกันเป็นปกติของแต่ละครอบครัวอาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บ่อยครั้งที่ทำให้เกิดความกดดันและความเครียดทั้งที่เราและลูกก็ปกติดีได้ การจำกัดการใช้สังคมออนไลน์สื่อสังคมออนไลน์ (หรือจำกัดเนื้อหา) ลงบ้างจึงอาจเป็นเรื่องที่ดีนั่นเอง

 

 

4. การออกกำลังกาย การออกกำลังไม่เพียงดีต่อสุขภาพของร่างกายโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังดีต่ออารมณ์ในระดับสารเคมีของสมองด้วย เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองหลายชนิดที่ช่วยบรรเทาและรักษาอาการซึมเศร้าทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการหลั่งของสารเอ็นโดฟินที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีอีกด้วย อย่าลืมหาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไปตามคำแนะนำด้วยครับ 

 

 

5. การขอความช่วยเหลือ การขอความช่วยเหลือให้คนที่เราไว้ใจได้มาช่วยเลี้ยงลูกบ้างไม่ใช่สัญญาณแห่งความล้มเหลวในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะในยามที่จำเป็นที่ร่างกายและจิตใจของพ่อแม่ต้องการพักและเยียวยา โดยมีข้อแม้ก็คือ “จงไว้ใจผู้อื่นบ้าง” เช่น การไว้ใจและเชื่อใจคุณพ่อให้ดูแลลูกบ้าง คุณแม่หลายคนไม่กล้าแม้แต่ให้คุณพ่ออยู่ตามลำพังกับลูกเพราะไม่ค่อยไว้ใจ และวิธีการเลี้ยงลูกของคุณพ่ออาจไม่ถูกใจคุณแม่นัก คุณแม่หลายคนจึงยอมแบกภาระการเลี้ยงลูกด้วยตนเองเพียงคนเดียว ซึ่งนั่นทำให้คุณแม่ไม่มีโอกาสได้พักและผ่อนคลายเลย เป็นที่มาของความเครียดเหนื่อยล้าจนเกินไป เป็นต้น 

 

 

ยังมีวิธีการอีกมากมายที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผ่อนคลายลงบ้าง เช่น การไม่นำเอางานกลับมาทำที่บ้าน (หากทำได้) และการยอมปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้กับความผิดพลาดของตัวเองบ้างโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เขา ก็ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาดและเติบโตขึ้นได้ โดยที่พ่อแม่ก็ไม่รับภาระของลูกเข้ามาแบกแทน เป็นต้น 

 

 

...”ขนาดเครื่องจักรยังต้องมีช่วงพักเครื่อง คนอย่างเรา อย่างไรก็ต้องพักบ้างนะครับ”...

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง