2701
การเติบโตลูกจะสะดุด ถ้าถูกฉุดด้วยความหวัง

การเติบโตลูกจะสะดุด ถ้าถูกฉุดด้วยความหวัง

โพสต์เมื่อวันที่ : May 3, 2024

 

...”เราต่างเลี้ยงลูกอย่าง ‘คาดหวัง’”... หากใครบอกว่าเราเลี้ยงลูกอย่างไม่คาดหวัง บอกได้ทันทีว่า “พูดไม่จริง”

 

เพราะอย่างน้อยเราก็เลี้ยงลูกอย่างคาดหวังให้เขาเติบโตมีร่างกายที่แข็งแรง มีความสุข มีความมั่นใจในตัวเอง เติบโตไปมีอาชีพ มีทักษะเอาไว้เลี้ยงตัวเลี้ยงใจได้ และไม่เป็นภาระสังคม และในเชิงมโนธรรมพ่อแม่หลายคนก็คงคาดหวังว่า ลูกน่าจะเติบโตไปเป็นคนที่คืนสิ่งดี ๆ กลับสู่สังคมให้ประเทศและโลกของเราดีขึ้นสักทางหนึ่ง

 

เพราะทุกคนที่มีสัมมาอาชีพ ต่างมีคุณต่อสังคมเสมออยู่แล้ว คงจะดี หากเราจะเห็นลูกของเราเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเป็นที่รักของคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องมานั่งไอหรือสำลักตอนดึก ๆ เพราะมีคนมาด่าลูกว่า "พ่อแม่ไม่สั่งสอน" 

 

 

คุณคาดหวัง เราคาดหวัง เพราะเราต่างรู้ทุกครั้งเมื่อเราสบตามองตาน้อย ๆ นั้นว่า เขาดีได้ เก่งได้ เพราะลูกเรามีค่าควรคาดหวัง เขาซึ่งเป็นที่รักของเรา โดยเราเองก็ต้องสร้างสมดุลให้ความคาดหวังและความปรารถนาดีของเราไม่สร้าง "ภาระ" บนไหล่ของลูกจนเกินไป 

 

บางคนรักมาก คาดหวังมาก จนลูกแทบสำลักความรักและความคาดหวัง บางคนแทบจะสิงลูกอยู่แล้ว บางคนโยนความคาดหวังของเราให้ลูกว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วขีดเส้นให้ลูกเดินโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการและมีความสุขจริง ๆ หรือไม่ แบบนี้ก็เกินไป 

 

 

ความคาดหวังที่ดี ย่อมเกิดบนพื้นฐานในความเป็นตัวตนของเขาที่จะเติบโตในแบบที่เป็นเขาเพราะนั่นคือชีวิตของลูก มิใช่ชีวิตของเรา 

 

แน่นอนว่า “การศึกษา” เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ลูกจะต้องผจญภัยและเติบโตภายนอกบ้าน หากมีสิทธิ์ที่จะเลือกระบบการศึกษาได้ พ่อแม่อย่างเราก็จะคัดสรร "ระบบ" การศึกษาที่คิดว่าดีที่สุดในกรอบความคิดและฐานะการเงินของแต่ละครอบครัว เพราะการศึกษาในระบบอย่างในอดีต (ที่ยังคงเป็นระบบการศึกษาหลักของประเทศ) อาจไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดในการประกอบอาชีพในอนาคตอีกต่อไปแล้วก็ได้ 

 

“โรงเรียนทางเลือก” ได้แก่ ระบบมอนเตสซอรี (Montessori) วอลดอร์ฟ (Woldorf) เรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia) และวีถีพุทธ ที่ว่ากันว่า ‘ดี’ ต่อพัฒนาการของลูก แต่อาจไม่ดีต่อกระเป๋าเงินของพ่อแม่ ที่สำคัญก็คือ หลังจากจบการศึกษาจากระบบโรงเรียนทางเลือกแล้ว

 

หากจำเป็นต้องกลับเข้าสู่ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เน้นการแข่งขันเชิงวิชาการ ลูกจะสามารถปรับตัวได้หรือไม่อย่างไร โดยตามพัฒนาการของสมองและวิธีการเรียนรู้ของระบบการศึกษาที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้นั้นน่าจะส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นมาแล้วตัวรอดได้ และมีสมองที่ยืดหยุ่นพอที่จะใช้ชีวิตได้แน่นอน 

 

 

จริงหรือ ? ในประเทศนี้ ในประเทศที่ห้องสมุดดี ๆ สังคมดี ๆ ที่เอื้อต่อพัฒนาการเด็ก ในประเทศที่บอกว่า เด็กไทยจะไประดับโลก แต่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งในประเทศยังขูดเลข ไหว้คนทรงเจ้า หาโชคลาภ ?

 

มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยที่ดี ๆ ครูดี ๆ มีทั่วถึงทั่วประเทศมีพอแล้วหรือยัง หาก 'ไม่มี' ที่บ้านที่มีกำลังทุนทรัพย์พอที่จะสนับสนุนไปไกล ๆ เราจะประคองลูกไปไหวไหมกับการเรียนโรงเรียนทางเลือกกันยาว ๆ ? โดยเฉพาะถ้าอยู่ที่ต่างจังหวัดแล้วเรียนโรงเรียนทางเลือก เมื่อจบแล้วไปไหนต่อ บางที่ก็มีแค่ระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาเท่านั้น นี่คือโจทย์ที่พ่อแม่จะต้องหาคำตอบที่เหมาะสมให้กับลูกของตัวเองต่อไป  

 

“โรงเรียนเร่งเรียนวิชาการ” ที่อาจไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กนัก แต่ก็ยังคงเป็นระบบการศึกษาหลักของประเทศ และพ่อแม่อย่างเราก็เป็นหนึ่งใน “ผู้รอด” จากระบบนี้และเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสัมมาอาชีพได้ เราต่างผ่านการสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจากข้อสอบแบบระบบเร่งเรียน ซึ่งวันนี้อาจไม่เหมือนวันวาน หลายคนก็เริ่มเห็นแล้วว่า ในอนาคตถ้าเรายังให้ลูกเน้นท่องจำแบบนี้ ไม่น่ารอดในอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า ใบปริญญาอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป 

 

 

จริงหรือ ? ใบปริญญาของมหาวิทยาลัยที่ดีก็ยังคงเป็นใบเบิกทางนำลูกไปหาสิ่งที่ดี ๆ ได้อีกมากมายในอนาคต อย่างน้อยก็ให้โอกาสลูกได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ และเป็นหนึ่งในใบเบิกทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ของชีวิตอีกมากมาย 

 

“โรงเรียนนานาชาติ” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก โดยสนนราคาที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ความสำคัญของ ‘ภาษา’ และมีทัศนคติที่ดีต่อระบบการศึกษาในระดับสากลที่มีมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นระบบของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และระบบ IB (International Baccalaureate) โดยความได้เปรียบเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอาจเป็น ‘กุญแจ’ ที่นำไปสู่โอกาสในอนาคตของลูกได้โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและจีนที่จะทำให้ลูกไปยังระดับนานาชาติได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหลายครอบครัวจึงเลือกที่จะส่งลูกเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ 

 

 

จริงหรือ ? อนาคตเครื่องแปลภาษาอาจทำงานแบบใส่หูฟังแล้วพูดภาษาถิ่นใส่กันแบบแปลได้ 100% แบบเรียลไทม์จริง ๆ ก็ได้ (ซึ่งมีโอกาสสูงมาก) ดังนั้นภาษาอาจไม่ได้จำเป็นอีกต่อไปก็ได้ในอนาคต ใครจะรู้ ดังนั้นเรื่องของระบบการศึกษาจึงไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าระบบใดเป็นระบบที่ดีที่สุด หากแต่มีเพียงระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนในบริบทของแต่ละครอบครัว เพราะไม่ว่าจะส่งลูกเรียนแบบไหนก็ตามก็อย่าให้ระบบของโรงเรียนทำร้ายลูก 

 

“อย่าหลงดี” คือ คำที่หมอพัฒนาการเด็กคนหนึ่งพูดกับพ่อหมอถึงระบบการเรียนของไทย ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม ระบบปกติ ทางเลือก หรือนานาชาติ เราต่างคิดว่าสิ่งนี้ "ดี" สำหรับเด็ก และเมื่อเราหลงดี ยึดมั่นถือมั่น อีโก้สูงเท่าเขาเอเวอร์เรสต์ว่าสิ่งที่เลือกนั้นดีที่สุด ผิดจากนี้ไม่ได้ โดยที่ไม่ได้หันมามองลูกน้อยที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้มองรอบตัวว่าสถานการณ์ตอนนี้ของครอบครัว ของเรา ของสังคมว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องระมัดระวังกันด้วย

 

 

...ผู้เขียนจึงมักจะบอกว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น ทางสายกลางไว้ก่อน...

 

 

หากมีสิทธิ์เลือกโรงเรียนให้ลูกได้ มันมักเริ่มต้นที่ “ความถูกจริตของพ่อแม่” ต่อวิถีของระบบการศึกษานั้น ๆ โดยควรประเมินลูกสม่ำเสมอว่า มัน "ใช่" สำหรับเขาหรือไม่ รวมถึงปัจจัยอื่นด้วยเช่นกัน ถ้าไม่ใช่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยมีพ่อแม่เป็นแรงสนับสนุนให้ลูกเติบโตตามศักยภาพของเขาได้เต็มที่ในแบบของเขาได้ 

 

 

เรียนในระบบเร่งวิชาการ ก็อย่าลืมบทเรียนชีวิตนอกห้องเรียน เล่นให้เต็มที่ ให้โอกาสได้ลองอะไรใหม่ ๆ ที่ลูกชอบนอกเหนือจากตำรา เรียนโรงเรียนทางเลือก อย่าลืมให้เขาเรียนรู้ว่า โลกนี้มีการแข่งขันจริงด้วยเสมอ (แม้ว่าโตมา เขาก็จะเจอเองอยู่แล้ว แต่เตรียมไว้หน่อยก็ดี) หรือเรียนทางเลือกแล้วประเมินว่า ไปต่อไม่ได้แล้ว พ่อแม่ไม่มีพลังหรือปัจจัยพอจะสนับสนุนในวิถีของทางเลือกนั้น ๆ ปรับเปลี่ยนก็ได้ เด็กยังปรับตัวได้เสมอ เรียนนานาชาติ ก็อาจต้องวางแผนการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้กับลูกด้วย (โดยเฉพาะการวางแผนการเงิน) 

 

หากประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้องย้ายกลับมาโรงเรียนในระบบไทยก็ต้องถือเป็นโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตจริง ๆ กับสถานะการเงินจริง ๆ ของที่บ้านก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน

 

 

...”ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดีเสมอ”...

 

 

ดังนั้นหากใครยังไม่ได้ตัดสินใจ และมีสิทธิ์ที่จะเลือกโรงเรียนให้ลูกได้ก็แนะนำให้เยี่ยมโรงเรียนเพื่อหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมั่นใจว่านี่จะเป็นทางเลือกที่เราเห็นว่าดีที่สุดสำหรับลูกแล้วนั่นเอง โดยสิ่งที่ไม่แนะนำก็คือ ให้ลูกไปเรียนในระบบที่พ่อแม่ไม่ได้เห็นด้วยว่า “ดี” (เลือกตามคนอื่นบอก) พ่อแม่มักทนไม่ไหวและเครียดเอง

 

 

บางคนให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกในระดับอนุบาล ลูกเขียนอ่านไม่ได้ก็เครียดอีก หรือไปโรงเรียนแบบเร่งเรียน แต่พ่อแม่คือเข้าไปกดดันครูตลอดว่า "แม่ไม่ได้คาดหวังอะไร อย่ากดดันลูกแม่นะคะ" "ไม่เอาการบ้านนะคะ" "ไม่เอานั่นนี่นะคะ" เขาคงแก้ให้เรายากนั่นเอง

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง