2411
"เลิกขวดนมเถอะ" หมอขอร้อง

"เลิกขวดนมเถอะ" หมอขอร้อง

โพสต์เมื่อวันที่ : June 27, 2023

 

"สุขภาพที่ดี" เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ดี ส่งผลให้เด็กคนหนึ่งสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพและไม่ป่วยง่าย

 

เด็กที่มีอายุ 1 ขวบขึ้นไป ควรรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อเป็นแหล่งของสารอาหารหลักทั้งสารอาหารหลักอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน รวมถึงสารอาหารรองอย่างวิตามินและแร่ธาตุ โดยมี ‘นม’ เป็นอาหารที่เสริมจากอาหารมื้อหลัก โดยเฉพาะนมแม่ที่มีประโยชน์ในแง่ของสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ภูมิคุ้มกันและสมอง

 

ในขณะที่ ‘นมวัว’ ก็เป็นแหล่งของโปรตีนและแคลเซียมที่เด็กดื่มง่ายด้วย 'นม' จึงมิใช่อาหารหลักของเด็กอีกต่อไปหลังขวบ พฤติกรรมการกินที่ดีอย่างหนึ่งที่เด็กต้องทำก็คือ “การเลิกขวดนม”

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา แนะนำให้เด็กเล็กควรเลิกการใช้ขวดนมก่อนอายุ 18 เดือน (ขวบครึ่ง) เนื่องจากพบว่าการดูดนมจากขวดนมหลังอายุ 18 เดือนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของ ‘สุขภาพในช่องปาก’ อย่างการเกิด ‘ฟันผุ’ โดยหากเป็นรายที่เกิดจากการดูดขวดนมที่ยาวนานมักเกิดฟันผุได้ทุกซี่ในปากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันซี่หน้าทั้งบนและล่าง (หลายครั้งผู้เขียนเจอว่าฟันซี่หน้าดำจนกุดไปเกินครึ่งซี่ได้เลย บางคนรุนแรงจนเหลือแต่ตอฟันสั้น ๆ จากเหงือก และมีกลิ่นปากที่รุนแรงร่วมด้วย โดยมักพบร่วมกับการแปรงฟันที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่แปรงฟันร่วมกับการไม่ยอมเลิกขวดนม) ทั้งยังส่งผลต่อปัญหาฟันไม่สบกัน (Dental Malocclusion) อีกด้วย

 

 

หลายการศึกษาพบว่าการไม่เลิกขวดนมหลังอายุ 2 ปีนั้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคซีดจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) อีกด้วย อาจเนื่องจากเด็กที่ไม่ยอมเลิกขวดนมนั้นมักมีแนวโน้มจะดื่มนมในปริมาตรที่มากต่อวันจนกระทบต่อการรับประทานอาหารมื้อหลัก เป็นเหตุให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีให้แก่เด็กอีกด้วย เราจึงพบทั้งเด็กไม่เลิกขวดนมที่มีน้ำหนักส่วนสูงตกเกณฑ์ และเกินเกณฑ์จนเป็น ‘โรคอ้วน’ ได้ในทางคลินิก

 

 

เราสามารถเลิกการใช้ขวดนมได้เมื่อไร ?

คำตอบแบบตามทฤษฎี คือ เด็กสามารถเลิกใช้ขวดนมได้ทันทีที่เด็กสามารถดูดน้ำจากขวดได้แล้ว โดยทั่วไปก็จะอยู่ที่อายุราว 8 - 9 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการดื่มนมจากขวดเป็นจากแก้วหัดดื่มหรือภาชนะอื่นได้เลยโดยเฉพาะในช่วงกลางวัน โดยคำตอบในเชิงปฏิบัติที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้จริง ๆ ก็คืออายุราว 12 - 18 เดือน โดยไม่ควรเกิน 2 ขวบ เพราะถ้าเกิน 2 ขวบแล้วนั้นปัญหาจะตามมาอีกมากมาย ทั้งเลิกยาก (เพราะรู้เรื่องมากแล้วและเข้าวัยที่ความเป็นตัวของตัวเองสูงอีก) และพบปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้อย่างที่บอกไปเบื้องต้น

 

 

‘วิธีการเลิกขวดนม’

  • แบบละมุนละม่อม คือค่อย ๆ ลด-ละ-เลิก โดยเริ่มจากการงดมื้อดึกให้ได้ก่อนหลังอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป จากนั้นเริ่มเปลี่ยนผ่านจากการดูดขวดไปเป็นจากกล่องหรือแก้วหลังจากที่เด็กเริ่มดูดหลอดหรือยกแก้วดื่มได้เองแล้วหลังอายุ 8-9 เดือน แล้วค่อยไปปรับเปลี่ยนกิจวัตรการนอนจากการใช้การดูดนมผ่านขวดเพื่อให้นอนหลับไปเป็นวิธีอื่น
  • แบบหักดิบ วิธีนี้เหมาะกับเด็กที่โตเกินวัยที่จะเลิกแบบละมุนละม่อน คุณพ่อคุณแม่อาจจพิจารณาการเลิกแบบหักดิบได้เลย เพราะอย่างไรก็ต้องเลิกอยู่ดี

 

หากถามว่า "ถ้าไม่เลิก เด็กจะเลิกเองไหม ?" คำตอบก็คือ เลิกเองแหละ แต่มักจะไปเลิกกันตอนอายุ 4 - 6 ปี ซึ่งนานมาก ยืดเยื้อมาก ปัญหาก็มาก ดังนั้นทำพิธีอำลาขวดนมกันไปเลย บอกให้ชัดว่าจากนี้ไปจะไม่มีขวดนมในบ้านอีกแล้ว และเอาขวดนมและอุปกรณ์เกี่ยวกับการดื่มนมจากขวดออกไปจากบ้านให้หมด (คล้ายกับคนที่เลิกบุหรี่) ซึ่งเด็กอาจจะร้องไห้ โกรธ เสียใจ นั่นคือเรื่องปกติ แต่ในที่สุด จงเชื่อว่าลูกจะสามารถปรับตัวได้ และลูกนั้นปรับตัวเก่งกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิดมากนัก

 

 

“เลิกขวดเถอะครับ หมอขอร้อง”

ประโยคนี้ หมอบอกกับคุณพ่อคุณแม่นะครับ ไม่ใช่ลูก เพราะพ่อแม่คืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการเลิกขวดนมของเด็ก หากพ่อแม่ไม่เชื่อและไม่จริงจังกับการเลิกขวดนมแล้วก็ยากเหลือเกินที่เด็กจะเลิกขวดนม

 

 

ในขณะที่นมแม่ ไม่ค่อยซีเรียส เพราะข้อมูลก็ชัดเจนว่าการเข้าเต้านั้นไม่ได้ทำให้ฟันผุ ไม่ได้มีปัญหาการสบฟัน และไม่เพิ่มโอกาสการเกิดหูชั้นกลางอักเสบใด ๆ นี่จึงยืนยันว่า นมแม่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่แม่ต้องการควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสมนั่นเอง (หมอฟันอาจจะไม่ถูกใจประโยคหลังเท่าไร ที่บอกว่านมแม่ไม่ได้ทำให้ฟันผุ แต่ scientific data กล่าวไว้เช่นนั้นจริง ๆ อย่างไรก็ต้องแปรงฟันให้ดี ให้สะอาด และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ด้วยนะฮะ)

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง