การฝึกลูกนอนยาวด้วยวิธี Cry it out
สร้างสุขลักษณะการนอนที่ดีให้กับเด็ก ให้เด็กสามารถนอนหลับในช่วงกลางคืนได้นานขึ้น
ลองจินตนาการดูค่ะ สมมติว่า พ่อแม่เข้าบ้านตอน 2 ทุ่ม ลูกซึ่งรอเจออยู่ พอเห็นเราปุ๊บ เขาก็ต้องขอใช้เวลากับพ่อแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นไปแทบไม่ได้เลยที่ลูกจะละจากเราไปใน 5 นาที ไล่ยังไงก็คงไม่ยอมเข้านอนแน่ ๆ ยกเว้นว่าเราจะดุมาก ซึ่งไม่แนะนำนะคะ ในฝั่งของพ่อแม่เอง บางคนก็อารมณ์เดียวกับลูกคือละจากลูกไม่ได้เหมือนกัน อยากกอด คุย เล่นกับลูกนานอีกหน่อย ถึงปากจะบอกว่า นอนได้แล้ว ๆ แต่พอลูกชวนคุย ก็คุยต่อ ไม่ยอมตัดบทจริง ๆ สักที
หลายบ้าน อาจไม่รู้ว่า ที่ลูกตื่นสายแล้วงอแงไม่ไปโรงเรียนนั้น ส่วนหนึ่งมาจากลูกนอนดึกเกินไป คือ นอนไม่พอน่ะค่ะ หรืออาจโดนดุรุนแรงตอนเข้านอน ทำให้ใจลูกไม่สงบ ตื่นมาก็งอแงได้ หรืออาจไม่ได้เจอพ่อแม่หลายวันติดกัน คุณยายพาเข้านอนก็ไม่ยอมเพราะคิดถึงพ่อแม่
▶︎ 1. พ่อแม่จะต้องหาวิธีจัดการตัวเองให้กลับบ้านเร็วขึ้น ได้บางวันก็ยังดีกว่าไม่มีเลย เชื่อว่าบางบ้านอาจทำได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกลับบ้านเร็วทุกวันก็ได้นะคะ ขอให้มีบ้าง อาจเป็นวันเว้นเว้น หรือ 2 วันในสัปดาห์ อย่างน้อยลูกก็ควรได้เจอพ่อแม่ตอนเย็น ๆ ระหว่างสัปดาห์บ้าง
ถึงแม้มันจะไม่ดีเท่ากลับบ้านเร็วทุกวัน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย และการกลับเร็วนั้น ก็ควรเผื่อเวลาไม่น้อยกว่าชั่วโมงก่อนเข้านอน ต้องเผื่อให้มีเวลาคุณภาพด้วย เช่น เล่านิทาน, หรือเด็กโต ก็คุยเรื่องที่โรงเรียนกัน ให้สมกับความคิดถึงของลูกนะคะ ไม่ควรกลับมาแล้ว มีเวลาแค่สอนการบ้าน เอาลูกอาบน้ำกินข้าว แล้วก็นอนเลย เด็กจะไม่ยอมนอนง่าย ๆ เพราะเขาต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ค่ะ
▶︎ 2 พ่อแม่ควรกำหนดวันที่กลับได้เร็วและวันที่กลับดึก ให้ลูกรู้ล่วงหน้า ความชัดเจนของเวลากลับบ้านพ่อแม่ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ต่างจากการปรากฏตัวของพ่อแม่เลยค่ะ ถ้าพ่อแม่บอกได้ว่าวันไหนกลับเร็ว เช่น ทุกวันพุธ กับศุกร์ ลูกจะได้รอคอยด้วยความสุขใจโดยไม่ต้องมีความกังวลผสมอยู่ว่าจะมาจริงมั้ย ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องมาให้ได้ตามที่บอกไว้ด้วยนะคะ ลูกจะได้สุขใจล้วน ๆ ไม่ต้องระแวงว่ามาไม่มา เพราะความกังวลใจเป็นเหตุผลหนึ่งของการไม่อยากแยกไปนอนเมื่อได้เจอพ่อแม่แล้วค่ะ
ส่วนวันที่พ่อแม่ต้องกลับดึกและลูกรู้แล้วว่าไม่ต้องรอ เช่น วันจันทร์ อังคารและพฤหัสบดี พ่อแม่กลับดึก ลูกจะได้ไม่ต้องตั้งตารอ สามารถตัดใจ ทำกิจกรรมอะไรของตัวเองไป และเข้านอนเมื่อถึงเวลาได้
กรณีที่เวลากลับของพ่อแม่อยู่ช่วงรอยต่อเข้านอนลูกพอดี เช่น ลูกนอน 2 ทุ่ม พ่อแม่กลับ 1 ทุ่ม 45... หมอแนะนำให้เรานับวันนี้เป็นวันกลับดึกและลูกไม่ต้องรอไปเลย เราต้องกลับข้ามช่วงเวลานั้น อาจเป็น 2 ทุ่มกว่า ๆให้ลูกหลับแล้ว เพื่อไม่ให้ลูกเห็นแล้วไม่ยอมนอน เป็นประเด็นที่ต้องดุลูกให้เข้านอน ไม่หลุดจากวงโคจรเดิม ๆ สักที
ระลึกไว้ว่า ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจของลูก ทำให้ลูกพาตัวเองเข้านอนแบบไม่มีอะไรค้างคาใจ หากพ่อแม่ชัดเจนทั้งตารางวันที่จะกลับเร็ว และเวลาคุณภาพที่ลูกจะได้ จะช่วยให้ลูกนอนหลับง่ายขึ้นแม้ในวันที่เรากลับดึก พ่อแม่จึงไม่ควรละเลยการบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้า และทำให้ได้อย่างที่บอก เพื่อให้จิตใจลูกสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างมั่นคงนะคะ
▶︎ 3. พ่อแม่ต้องชดเชยเวลาคุณภาพกับลูกในวันอื่น ๆ แม้เราจะทำตามข้อ 1 และ 2 แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะไม่งอแงตอนพาเข้านอนเลย ยังไงลูกก็ต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ค่ะ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีเวลาคุณภาพกับลูกในวันอื่น ๆ อาจเป็นวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และควรเป็นช่วงเวลาที่ได้คุยกัน เล่นกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน
กรณีพาลูกออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมตามห้างฯ อาจไม่ใช่เวลาคุณภาพนะคะ เพราะเราไม่ได้ลงมือทำร่วมกับลูก ซึ่งต่างจากการทำอะไรด้วยกันที่บ้าน ที่ทั้งสองฝ่ายมีสมาธิจดจ่อ คุยกัน เล่นกัน ลองพิจารณาดูค่ะว่า เสาร์ อาทิตย์ที่อยู่กับลูก คือ เวลาคุณภาพหรือไม่ หากไม่ใช่ อาจต้องลดหรืองดการออกไปข้างนอก เพื่อให้มีเวลาอยู่ทำกิจกรรมหรือเล่นกับลูกมากขึ้น
เมื่อพ่อแม่ชดเชยเวลาคุณภาพให้ลูกในวันอื่น ๆ ลูกจะได้รับความรักที่มีส่วนประกอบของความใจใส่จากพ่อแม่ ลูกรับรู้ว่า เขาเป็นคนสำคัญของพ่อแม่จริง ๆ (พ่อแม่ให้เวลาแปลว่าลูกสำคัญ, พ่อแม่ไม่มีเวลาให้แปลว่าลูกไม่สำคัญ เด็ก ๆ เขาตีความแบบนี้ค่ะ) เมื่อลูกรับรู้ว่าตนเองมีความหมาย ก็จะมั่นคงทางจิตใจ ลดความงอแงหรือลดความรู้สึกขาด ในวันที่พ่อแม่กลับดึกแล้วไม่เจอกันได้