153
เอางี้จริงเหรอ ? ยื่นโทรศัพท์ให้ลูกจะได้ไม่กวน ?

เอางี้จริงเหรอ ? ยื่นโทรศัพท์ให้ลูกจะได้ไม่กวน ?

โพสต์เมื่อวันที่ : February 5, 2024

 

พ่อแม่หลายคน (รวมถึง ปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยงที่ต้องเลี้ยงเด็กเล็ก) ที่เข้าใจว่าการที่เด็กนั่งจ้องหน้าจอนิ่ง ๆ เพราะหมายถึงเด็กมีสมาธิจดจ่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ถูกต้อง !

 

หน้าจอมือถือ และแท็ปเล็ตที่สามารถเข้าถึง Application ให้ความบันเทิงต่าง ๆ จึงเหมือนเครื่องมือวิเศษที่ทำให้เด็กอยู่นิ่งได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ป้อนข้าวง่ายขึ้น เพราะนั่งอยู่นิ่ง ๆ ทำให้ยอมเข้าไปพบหมอโดยที่ไม่ร้องโวยวาย ทำให้คนเลี้ยงดูสบายใจ ว่าจะไม่เกิดอันตราย เวลาที่ต้องละสายตาและอีกหลาย ๆ เหตุผล แต่แท้ที่จริงแล้วมิใช่เด็กมีสมาธิ แต่เด็กไม่สามารถถอนตัวจากความสนุกตรงหน้าได้ต่างหาก เหตุผลที่เด็กเล็กดูความบันเทิงผ่านหน้าจอได้นาน เพราะสมองของเด็กเล็กรับข้อมูลผ่านภาพเป็นหลัก

 

ความบันเทิงผ่านหน้าจอที่เป็นมัลติมีเดีย มีภาพที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที มีแสง สี เสียง มีการเคลื่อนไหว ทำให้สมองต้องรับข้อมูลใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องอาศัยพลังงานของเซลล์สมองมหาศาล ขณะที่กำลังรับข้อมูลปริมาณมากตรงหน้า สมองจะปิดกั้นข้อมูลจากแหล่งอื่น ทำให้เด็กไม่ได้ยินในสิ่งที่เราพูดด้วยหรือไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปชั่วขณะที่ดูจอ ขณะที่สมองรับข้อมูลปริมาณมากนั้น เป็นการทำงานที่หนักหน่วง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองน้อย

 

▶︎ หากเทียบกับการอ่านหนังสือนิทาน พบว่าการรับข้อมูลภาพนิ่งที่มีเสียงอ่านประกอบ ทำให้เด็ก ๆ คิดตามได้ทัน และรับข้อมูลในปริมาณและความเร็วที่พอเหมาะ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองมากกว่า อีกเหตุผลที่เด็ก ๆ อยู่นิ่งได้นาน ๆ เพราะคลิปวีดีโอต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น ผ่านการคิดมาถี่ถ้วน ว่าจะดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายให้อยู่กับเนื้อหาที่นำเสนอได้นานที่สุด เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงและรายได้ที่ผู้ผลิตจะได้รับ เนื้อหามักกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น สนุก ตลก น่าค้นหา ทำให้เด็ก ๆ ซึ่งยังฝึกเรื่องการควบคุมตัวเองได้ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ ถอนตัวจากความสนุกไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เนื้อหาที่เป็นของเด็กมียอดวิวหลักร้อยล้านเป็นเรื่องธรรมดา

 

 

ทักษะ “ถอนตัวจากความสนุก” หรือ “การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือ delayed gratification เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญที่ต้องฝึกฝนไม่ได้เกิดขึ้นเอง ผู้เลี้ยงดูต้องช่วยให้ลูกเรียนรู้ หมอจึงมีคำแนะนำดังนี้

 

▶︎ 1.สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูก

เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงดู และฝึกฝนเด็กในทุกเรื่อง เด็ก ๆ อยากเป็นที่รักของคนที่เค้ารัก

 

 

▶︎ 2. ยืดเวลา ที่เด็กจะได้ “มีประสบการณ์ผ่านหน้าจอ”

ตามคำแนะนำที่เป็นสากล คือ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ห้ามมิให้ดูหน้าจอทุกชนิ เพราะ สมองของเด็กวัยนี้ยังไม่พร้อม เป็นช่วงสำคัญของการเรียนรู้ภาษา และทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้นก่อน 2 ปี ใกล้ชิด พูดคุย เล่นกับลูก ให้เด็กรับรู้ว่าความสนุกมันอยู่รอบตัวเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่จะ "เล่น" โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อที่หน้าจอ

 

 

▶︎ 3. เด็กอายุมากกว่า 2 ปี การดูจอต้องมาพร้อพ่อหรือแม่

หมายความว่า ต้องทำให้การเข้าถึงสื่อเหล่านี้ ยากเกินกว่าที่เด็กจะดูเองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทุกครั้งที่ลูกดู พ่อแม่ก็ต้องนั่งดูไปพร้อมกันกับลูก ทำให้สามารถคัดกรองสื่อที่เหมาะสม และจำกัดเวลาให้กับลูกได้

 

 

▶︎ 4. วัยประถมขึ้นไป เป็นวัยที่เข้าใจกติกา

ให้สร้างกติการ่วมกัน เป็นกติกาที่เหมาะสม เข้าใจง่าย ในช่วงแรก พ่อแม่อาจจะต้องเตือนก่อนที่จะหมดเวลา 5-10 นาที หากหมดเวลาลูกต้องทำตามกติกาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามก็ต้องทำตามข้อตกลง และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือ หากลูกทำตามกติกา ต้องชื่นชมที่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี ให้สังเกตระยะเวลาที่ลูกใช้ในการถอนตัว

 

 

หากลูกพัฒนาเร็วขึ้น ดีขึ้น แม้แต่เพียงเล็กน้อย เราก็ต้องชื่นชม ระบุการกระทำที่ลูกทำได้ดี เด็ก ๆ จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และอยากทำดีมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง