158
ไม่อยากให้ลูกเลือกข้าง ควรหาตรงกลางให้ได้ก่อน

ไม่อยากให้ลูกเลือกข้าง ควรหาตรงกลางให้ได้ก่อน

โพสต์เมื่อวันที่ : January 23, 2024

 

ขอสมมติเหตุการณ์ค่ะ พ่อตามใจลูก แต่แม่ดุและจัดการลูกอยู่คนเดียว แม้พ่อจะไม่เห็นด้วยกับวิธีของตนเองแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีของแม่ ก็เลยทำตามแบบเดิม ๆ ที่เป็นอยู่

 

"การเลี้ยงคนละแนวทาง" ไม่ใช่เพราะทั้งสองฝ่ายไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งคู่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน และการไม่คุยกันก็ย่อมหาทางออกร่วมกันยาก การตามใจลูกเพื่อบรรเทาความตึงเครียดของลูก เพราะอีกฝ่ายใช้อารมณ์กับเด็ก มองดูเผิน ๆ ก็เหมือนช่วยลูกได้ แต่ถ้ามองลงลึก เราอาจเห็นความไม่มั่นคงในจิตใจของเด็ก !

 

เมื่อไรก็ตามที่ลูกมองเห็นพ่อ - แม่ไปคนละทาง...

คนหนึ่งสั่งให้หยุด แต่อีกคนปล่อยให้ทำ คนหนึ่งบอกให้ปิดทีวี แต่อีกคนบอกให้ดูต่อได้ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่พ่อแม่ทะเลาะกันเพราะเรื่องของเขา ลูกจะรู้สึกอึดอัดใจและสับสนมาก แม้ลูกจะรู้สึกดีที่พ่อเข้าปกป้อง แต่ความต้องการลึก ๆ ก็ไม่อยากเป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ทะเลาะกัน และความรักที่เขามีต่อแม่ จะยังคงเหมือนเดิมหรือจะลดน้อยลง ? สถานการณ์แบบนี้ (แม่ขัดและพ่อเข้าปกป้อง) ลูกอาจรู้สึกรักแม่ลดลง และเมื่อลูกรู้สึกแบบนี้โดยไม่ตั้งใจ เขาก็คงรู้สึกแย่ต่อตนเอง เพราะลูกทุกคนปรารถนาที่จะ “รัก” และจงรักภักดีกับพ่อแม่เท่า ๆ กัน

 

สภาวะที่ดูเหมือนลูกต้อง “เลือก” ทำให้เด็กสับสน และเด็กก็ต้องตัดสินใจเลือกเสียด้วย ลูกจะเลือกเข้าหาคนที่ตามใจ เมื่อลูกเลือกเข้าหาพ่อมากกว่าแม่ พวกเราคิดว่า ลึก ๆ ในใจของลูก กำลังรู้สึกหรือคิดอะไรกับแม่บ้าง ? ยังรักแม่อยู่เหมือนเดิม หรือรักแต่ก็กลัวแม่ ชีวิตประจำวันลูกอาจต้องแอบทำ และอาจปกปิดแม่ หรือรักแต่ก็โกรธแม่ ลูกอาจต่อต้าน เถียง และต้องการเอาชนะเมื่อแม่สั่งสอน

 

 

แล้วคนเป็นแม่ล่ะ...? แม่ที่ต้องเป็นยักษ์ตลอดเวลา ลึก ๆในใจกำลังรู้สึกหรือคิดอะไรกับตนเองบ้าง แม่คงรู้สึกแย่, เศร้าและรู้สึกผิด แม่อาจหมดแรง ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีพลังสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก ซึ่งสำคัญมาก เพราะหากแม่ไม่มีช่วงเวลาคุณภาพกับลูก ก็จะฝึกวินัยลูกยากมาก แม่บางคนอาจโทษตัวเองว่าเป็นแม่ไม่ดี และหากมีคนตำหนิว่าเป็นแม่ใจร้าย ก็จะยิ่งแย่ ท้อแท้เบื่อหน่าย จนอาจเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า

 

การเลี้ยงลูกคนละแนวทาง จึงอาจไม่ใช่แค่เลี้ยงลูกยากมากขึ้น หรือลูกเลือกเข้าหาใคร ไม่เอาใครแบบผิวเผิน แต่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกลึก ๆ ในใจของเด็ก รวมทั้งคนเป็นแม่ด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตตามมา และหากแม่มีจิตใจที่ไม่ปกติสุข คนที่ได้ผลกระทบเต็ม ๆ ก็คงหนีไม่พ้น “ลูก” เหมือนเดิม

 

 

ดังนั้นหากพ่อปรารถนาให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดี พ่อกับแม่จะต้องคุยกัน คุยเพื่อ “แก้ปัญหา” ไม่ใช่คุยเพื่อตำหนิกันและกัน ที่สำคัญ ควรชื่นชมกันและให้กำลังใจกันและกันด้วยค่ะ

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง