196
สร้างเกราะป้องกันทางใจ : วิธีช่วยเด็กให้มีสุขภาพจิตที่แข็งแรง

สร้างเกราะป้องกันทางใจ : วิธีช่วยเด็กให้มีสุขภาพจิตที่แข็งแรง

โพสต์เมื่อวันที่ : February 8, 2025

 

สุขภาพจิตในยุคปัจจุบัน : ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีก็คือ "สุขภาพจิต" ของผู้คน

 

"สุขภาพจิต" หมายถึง สุขภาพของจิตใจในการใช้ชีวิต ที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถดำรงชีวิตและรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด คนที่มีสุขภาพจิตดีจะสามารถทำงานได้ดี เรียนรู้ได้ดี และสามารถเข้าสังคมได้ดีด้วย ดังนั้น สุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องของ “ทักษะทางใจ” เป็นหลัก และ “สิ่งแวดล้อม” เช่น ผู้คน สังคม การทำงาน และเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่กระทบต่อจิตใจ และทำให้เราต้องใช้ทักษะทางใจเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านั้น

 

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากทั้ง 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

❶. ทักษะทางใจที่ไม่แข็งแรง

❷. สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีปัญหารุมเร้ามากขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้คน สังคม การทำงาน และปัญหาเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า คนทั่วโลกกว่า 970 ล้านคนมีปัญหาทางสุขภาพจิต (ข้อมูลปี 2019) ซึ่งรวมถึงภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ และโรคจิตเภท

 

 

"วัยรุ่น" ถือเป็นอีกกลุ่มอายุที่พบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น พบว่า ราว 1 ใน 7 ของเด็กอายุ 10 - 19 ปี เคยมีปัญหาทางสุขภาพจิต ตัวเลขนี้สูงจนน่าตกใจ และคุณอาจตกใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่า “การฆ่าตัวตาย” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ในช่วงอายุ 15 - 29 ปี

 

แน่นอนว่า ปัญหาทางจิตใจส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นทันที แต่ค่อย ๆ สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กโดยไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งเริ่มแสดงอาการในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ดังนั้น "ครอบครัว พ่อแม่ และการเลี้ยงดู" จึงอาจเป็นทั้ง ‘สาเหตุ’ และ ‘การป้องกัน’ ของปัญหาสุขภาพจิต เพราะหากเด็กเติบโตมาในครอบครัวที่ดี มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ครอบครัวก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและใจ ทำให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะทางใจที่ดีและพร้อมรับมือกับสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวนและคาดเดาได้ยาก

 

ในทางกลับกัน หากครอบครัวไม่ดี เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง หรือทอดทิ้ง สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นบาดแผลในใจเด็ก ส่งผลให้พัฒนาการทางอารมณ์และความมั่นใจในตนเองลดลง บั่นทอนทักษะทางใจ และเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาภายนอก จึงเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียน และการทำงาน

 

ปัญหาทางอารมณ์ในวัยรุ่นที่พบบ่อย ได้แก่

  • ภาวะวิตกกังวลและอาการแพนิก (Panic Attack)
  • พฤติกรรมเสี่ยง (Risk-taking Behavior) เช่น เพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
  • พฤติกรรมรุนแรงและการใช้สารเสพติด
  • ความผิดปกติในการกิน (Eating Disorder)
  • ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

 

ปัญหาเหล่านี้พบมากขึ้นในปัจจุบัน และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

 

แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร ?

 

❶. ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับลูก

  • รักอย่างไร้เงื่อนไข
  • ฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจและควบคุมอารมณ์ตั้งแต่เด็กเล็ก
  • ช่วยให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เช่น เสียใจร้องไห้ได้ โกรธระบายได้ แต่ใช้ความรุนแรงไม่ได้
  • พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าทุกปัญหามีทางแก้ และทุกความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้

 

❷. สังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด

  • จับสัญญาณความผิดปกติได้เร็ว จะช่วยให้รับมือและแก้ไขปัญหาได้ทัน
  • หากจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยา การเริ่มต้นเร็วจะช่วยให้การดูแลง่ายขึ้น

 

❸. ทุกคนรอบตัวเด็กต้องร่วมมือกัน

  • ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และพ่อแม่ของเพื่อนลูก ควรมีการสื่อสารและทำงานร่วมกัน
  • ไม่ใช่ทุกพฤติกรรมของวัยรุ่นจะเป็น "ปัญหา" บางเรื่องเป็นพัฒนาการตามวัยที่ควรได้รับการเข้าใจ
  • ควรสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ให้เด็กได้แสดงออก ทดลอง และตัดสินใจในขอบเขตที่เหมาะสม

 

❹. ดูแลเรื่องการใช้เทคโนโลยีให้ดี

  • ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลให้เหมาะสมกับวัย
  • โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่กำหนดอายุขั้นต่ำที่ 13 ปีขึ้นไป (บางประเทศอย่างออสเตรเลียกำลังพิจารณาให้สูงขึ้น)
  • ระวังปัญหาที่มาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย เช่น การกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying), การถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้า, การเสียเวลานอน และผลกระทบต่อสุขภาพจิต
  • ให้ลูกใช้เทคโนโลยีในวัยที่เขามีภูมิคุ้มกันทางใจเพียงพอ (ใช้ได้อย่างรับผิดชอบ ไม่ถูกครอบงำ)

 

 

หยิบยื่นหน้าจอให้ในวัยที่เหมาะสมที่มีภูมิคุ้มกันและทักษะทางใจที่เพียงพอที่จะรับมือกับหน้าจอได้แล้ว จึงอาจเป็นคำตอบที่ดีในยุคนี้

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง