
“ฟังนิทานให้จบเล่ม” พัฒนาสมาธิของลูก
เงื่อนไขสำคัญ คือ ห้ามบังคับ ห้ามดุ และไม่ต้องเตือนให้จบเล่ม
เด็ก ๆ จะสามารถปรับตัวได้ดีและยังคงความเป็นตัวของตัวเองเสมอ ถ้าพวกเขามีคุณสมบัติ ดังนี้
❶. เมื่อเด็กรับรู้ความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง — เด็กที่รู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ขอบเขตของตัวเอง ทำให้พวกเขารับรู้ว่า ตนเองสามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งความสามารถนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กคนนั้นได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง (Self-care) และทำงานตามวัยของเขา เช่น การดูแลพื้นที่ที่ตัวเองใช้งาน งานบ้าน และงานอื่น ๆ
พื้นที่ที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เด็ก ๆ จะมองหาสิ่งที่ตนเองทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่มี ซึ่งนำไปสู่การรักษาตัวตนของตัวเองเอาไว้ได้ แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นเช่นไรก็ตาม
ยกตัวอย่าง
เด็กบางคนต้องย้ายไปเรียนที่ต่างประเทศ ต้องเจอกับภาษาที่ไม่คุ้นเคย หากเขายังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และมีทักษะพื้นฐานที่ดีในการเข้าสังคม การเป็นผู้ฟัง สังเกต และทำตาม เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ภาษาและสิ่งใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
❷. เมื่อเด็กมีความสามารถในการแก้ปัญหา — ทักษะนี้จะเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ทำเป็นแบบอย่างให้เด็กดูเมื่อเจอปัญหา และเปิดโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง โดยให้การแนะนำวิธีการ แต่ไม่ชี้นำหรือบังคับให้เขาทำตามที่เราต้องการ เด็กจะมีโอกาสได้คิด และตัดสินใจเอง
ยกตัวอย่าง
เด็กบางคนเข้าไปอยู่ในโรงเรียนใหม่ เขาจำไม่ได้ว่าสถานที่ต่าง ๆ อยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าเขามีการแก้ปัญหาที่ดี เด็กจะกล้าสื่อสารเพื่อถามจากผู้อื่น หรือใช้การสังเกตว่าเพื่อน ๆ เดินไปทางไหนกัน
❸. เมื่อเด็กเป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก รวมไปถึงการเป็นเด็กกินง่าย อยู่ง่าย — เด็กที่สามารถสร้างความสุขได้ด้วยตนเอง มีความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว จะเป็นเด็กที่สามารถสุขง่าย ทุกข์ยาก เด็กที่เป็นเช่นนั้นมักมีมุมมองในการมองโลกในแง่ดี ซึ่งไม่ใช่มองโลกสวยเกินจริง แต่มองโลกอย่างที่โลกเป็น และพยายามหาแง่งามซ่อนอยู่จนเจอ บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดกับลูก ไม่ใช่ความสะดวกสบายและราคาของที่แพง แต่เป็นการได้สอนให้เขาเรียนรู้คุณค่าจากภายในมากกว่าภายนอก
❹. เมื่อเด็กมีความคิดยืดหยุ่น — เด็กที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และยินดีที่จะประนีประนอมกับความคิดที่ไม่เหมือนตนเอง จะสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้อย่างดี ของเล่นไม่ต้องมากชิ้น และการเล่นอิสระภายใต้กติกาคือสิ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ พยายามคิดสร้างสรรค์การเล่นใหม่ ๆ ขึ้นมาจากสิ่งเดิม ๆ หรือสิ่งที่เขามี ความคิดยืดหยุ่นจึงเกิดขึ้นภายใต้กรอบกติกาที่ชัดเจน
❺. เมื่อเด็กรับรู้ว่าตัวเองไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ตัวคนเดียว — พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกอุ่นใจในวันที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง เด็กต้องเผชิญกับการปรับตัวมากมาย หากเขารับรู้ว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่มีพ่อแม่พร้อมจะสู้ไปกับเขาด้วย
❻. เมื่อเด็กรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร — สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ต้องไปเจอเพื่อน เจอคนใหม่ การที่เขาได้รู้ว่าหน้าตาของสถานที่และผู้คนที่เขาต้องไปเจอเป็นเช่นไร เพื่อที่เขาจะได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมใจได้ก่อนจะไปเผชิญในวันจริง
❼. เมื่อเด็กรู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ — สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องเผชิญกับการจากลาและการเปลี่ยนแปลง ใครบางคนหายไปจากชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการจากไปหรือจากถาวร พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยเขาให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยการ ‘รับฟัง’ ไม่ใช่เพียงแค่เสียงพูด แต่ยังต้องฟังจากใจของเด็กด้วย อยู่เป็นเพื่อนเขา และกอดเขาแน่น ๆ จนกว่าเขาจะสบายใจ
สุดท้ายแม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมให้กับลูกอย่างเต็มที่ตาม 7 ข้อข้างต้นแล้วก็ตาม บางครั้งความเปลี่ยนแปลงก็อาจหนักหนาสำหรับจิตใจของเด็กน้อย พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรปลอบประโลมเขาด้วยความเข้าใจ
เราอนุญาตให้เขาแสดงออกทางความรู้สึกและอารมณ์ได้ เด็กอาจจะหงุดหงิด โกรธ หรือเศร้า สิ่งที่เขาแสดงออกอาจจะเป็นการร้องไห้ เหวี่ยงวีน หรืออื่น ๆ เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้เขาไม่ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือสิ่งใด ให้เวลาเขาสงบด้วยการอยู่เป็นเพื่อนเขา ณ จุดนี้เด็ก ๆ จะเรียนรู้ว่า เขาไม่ต้องเก็บมันไว้ พ่อแม่ยอมรับตัวเขา และเขาจะค่อย ๆ ยอมรับตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้น
พ่อแม่สามารถให้ความมั่นใจกับเขาด้วยการย้ำเตือนว่าลูกไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงนี้คนเดียว พ่อแม่จะอยู่กับลูก ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เด็กแต่ละคนใช้เวลาปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน เมื่อเขาพร้อม เขาจะค่อย ๆ ยอมรับมัน และเขาจะก้าวออกไปด้วยตัวเขาเอง เมื่อเด็ก ๆ พร้อม พวกเขาจะสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง แต่หัวใจและตัวตนของพวกเขายังคงรักษาไว้คงเดิมไม่เปลี่ยนไป
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱