เด็กดีได้เท่าใจผู้ใหญ่ที่เปิดกว้าง
"เด็กดี" ที่ผู้ใหญ่คิดไว้นั้น ต้องเป็นอย่างไร ?
อย่าคิดว่ายังไม่ถึงวัย Teenage แล้วลูกเล็ก ๆ ของเราจะไม่ใช่วัยรุ่นนะครับ คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินคำว่า “วัยวุ่น รุ่น 2 ขวบ” หรือ “Terrible 2” มาแล้วใช่ไหมครับ
จริง ๆ แล้วมนุษย์พ่ออยากจะบอกว่า ..."ความ Terrible ไม่ใช่แค่จะจบเพียงแค่ในขวบปีที่ 2 นะครับ"... เลข 2 นี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นครับ พูดแล้วปลื้มปริ่ม ยืนยิ้มทั้งน้ำตาจริง ๆ
สำหรับลูกแล้ว การชมเชยถึงแม้จะเป็นเรื่องดี แต่การชมที่บ่อยเกินไป หรือโอเว่อร์เกินพอดีไป ก็อาจจะไม่ส่งผลดีแบบที่เราคิด เพราะลูกจะไม่เห็นคุณค่าของคำชมนั้น หรือเกิดอาการยึดติดกับคำชมที่ฉาบฉวย เช่น สวยหล่อ ฉลาดมาก เก่งจังเลย เพราะคำชมเหล่านี้มีขอบเขตที่กว้างมาก ไม่จำเพาะเจาะจง ทำให้ลูกยึดติดแค่ที่ผลลัพท์เท่านั้น
ส่วนการตำหนิลูกก็เช่นกัน ถ้าตำหนิไม่ถูกวิธี เผลอๆอาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด เริ่มจากการเสียความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ซึ่งการสูญเสีย Trust ในตัวบุคคลของแต่ละฝ่าย จะทำให้ลูกเสีย Self Confident หรือความเชื่อมั่นในตัวเองไปเลย ซึ่งจะก่อให้เกิดพฤติกรรมประชดประชัน ต่อต้านในที่สุด
วิธีชมเชยอย่างไรไม่ให้ลูกเหลิง
✚ 1. ถามลูกก่อนตำหนิ ✚
การพูดคุยถึงสาเหตุที่ลูกลงมือทำสิ่งนั้น ๆ นอกจากจะช่วยให้ลูกทบทวนความผิดพลาด คิดหาวิธีแก้ไขเพื่อแสดงความรับผิดชอบแล้ว ยังจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความคิดมุมมองของลูกมากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจทำโทษหรือตำหนิออกไป
✚ 2. ชมที่ตัวลูกและชมทันทีที่เห็น ✚
เมื่อลูกทำสิ่งดี ๆ ให้ชมที่ตัวของลูกโดยตรง เช่น ถ้าลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อน ก็ควรจะชมว่าลูกเป็นคนใจดี จะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง จะเหมาะกว่าชมแบบกลาง ๆ ว่า ..."การแบ่งปันเป็นสิ่งที่ดี"... เป็นต้น
✚ 3. เน้นที่ความพยายาม ✚
ไม่ว่าลูกจะทำสำเร็จหรือไม่ หากเห็นว่าลูกมีความตั้งใจจริงและพยายาม ก็ควรได้รับคำชมเช่นกัน และให้เน้นไปที่กระบวนการที่นำไปสู่ผลงานนั้น ๆ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าผลลัพธ์ คือ ประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้ที่ได้มา ถ้าการชมเชยเน้นไปที่ผลสำเร็จ จะทำให้ลูกยึดติดว่าต้องทำสำเร็จเท่านั้นจึงจะแปลว่าดี ซึ่งอาจทำให้ลูกโหยหาความสำเร็จมากเกินไป โดยไม่เกี่ยงกับวิธีที่จะได้มา หรือหากมีครั้งใดที่ล้มเหลว ก็อาจจะเกิดอาการสูญเสียความมั่นใจทั้งหมดไปในครั้งเดียว
✚ 4. รางวัลไม่จำเป็น ✚
การทำดีมีคุณค่า และทำให้คนที่ทำรู้สึกดีในตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้รางวัลลูกเมื่อทำความดีอีก เว้นเสียแต่ว่ามีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ พร้อมกับตั้งรางวัลไว้เพื่อเสริมแรงจูงใจให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
✚ 5. พลาดได้ ไม่ใช่ “ความผิด” ✚
คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องตั้งทัศนคติไว้ก่อนว่า การที่ลูกทำผิดไม่ได้แปลว่าลูกเป็นคนไม่ดี หรือการทำพลาดก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะหากไม่มีการทำผิดพลาดก็คงไม่เกิดสิ่งสำคัญที่จะตามมา คือ “ประสบการณ์และการเรียนรู้”
✚ 6. ตำหนิที่ “พฤติกรรม” ไม่ใช่ที่ “ตัวลูก” ✚
การตำหนิควรเน้นไปที่การกระทำของลูก เพื่อมุ่งให้ลูกสำนึกผิด เข้าใจและตั้งใจที่จะแก้ไขปรับปรุงตัวเองในครั้งต่อไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าการตำหนิทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไม่มีค่าแล้ว อาจส่งผลเสียต่อตัวลูกได้คือ...
✖︎ ต่อต้านไม่ยอมรับคำตำหนิ จนกลายเป็นคนก้าวร้าว ดื้อมากขึ้น เถียงไม่ยอมลดละ เพิกเฉยไม่สนใจไม่ฟังคำสอน คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ขี้บ่นน่ารำคาญ
✖︎ ยอมรับและไม่เห็นค่าในตัวเอง ก้มหน้าก้มตารับคำดุด่า โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง กลายเป็นเด็กไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย อาจจะส่งผลต่อจิตใจในระยะยาว เพราะเข้าใจว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ จนทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้
แต่ทั้งหมดทั้งมวล คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำใจให้กว้างเข้าไว้ด้วยเช่นกัน อย่าโมโหหรือโกรธลูกหากลูกผิดพลาดหรือทำไม่สำเร็จ เพราะสิ่งที่เราต้องการจะปลูกฝังให้กับลูกคือ “Growth Mindset” แปลว่า “กรอบความคิดแบบเติบโต” คือลูกต้องเรียนรู้ว่า มนุษย์เราสำเร็จได้ก็ผิดพลาดได้ แต่ขอให้แก้ไขเป็น ล้มเหลวได้ก็ลุกขึ้นใหม่ได้ ปัญหาและความผิดพลาดคือประสบการณ์ที่จะทำให้เราเติบโตครับ